ไทยส่งออกข้าว ต.ค. 66 คาด 8 แสนตัน จากค้างส่งมอบ-อาเซียน แอฟริกา ตะวันออกกลางเร่งนำเข้า

ข้าว

ผู้ส่งออกข้าว คาดเดือนตุลาคม 2566 ไทยส่งออกข้าวได้ 8 แสนตัน เนื่องจากยังมีข้าวค้างส่งมอบ ผู้นำเข้าอาเซียน แอฟริกา ตะวันออกกลาง ยังเร่งนำเข้าต่อเนื่อง 9 เดือนแรกปีนี้  ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว ปริมาณ 6,082,136 ตัน มูลค่า 117,589.6 ล้านบาท

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  เปิดเผยว่า สมาคมฯ คาดว่าในเดือนตุลาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังค้างอยู่เป็นจำนวนมาก

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

ประกอบกับผู้นำเข้าที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งตลาดประจำในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ยังคงเร่งนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอม

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และปัญหาขาดแคลนข้าวที่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้น รวมทั้งมีการเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี

ในขณะที่อุปทานข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะตึงตัว ประกอบกับวงการค้าคาดว่ารัฐบาลอินเดียจะยังคงมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวต่อไปจนถึงช่วงเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ทำให้ผู้ซื้อต้องหันไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่นแทน

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนกันยายน 2566 มีปริมาณ 807,776 ตัน มูลค่า 17,220 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 26.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 48.1% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ที่มีปริมาณ 630,567 ตัน มูลค่า 12,953 ล้านบาท

เนื่องจากในเดือนกันยายน 2566 การส่งออกข้าวนึ่งและกลุ่มปลายข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้นำเข้ายังคงเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยสต็อคในประเทศที่ลดลงและสำรองไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ยังตึงตัวจากมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่คาดว่าจะยังคงมีผลไปจนถึงต้นปี 2567 เป็นอย่างน้อย ทำให้ผู้ซื้อต้องหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น

โดยการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 236,120 ตัน เพิ่มขึ้น 190.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เยเมน เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 349,709 ตัน ลดลง 7.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อิรัก แองโกล่า ญี่ปุ่น ซิมบับเว แอฟริกาใต้ เบนิน โมซัมบิก เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ปริมาณ 107,678 ตัน ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน เป็นต้น

ด้านราคาข้าวไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามภาวะตลาดที่อุปทานข้าวฤดูใหม่เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกส่งผลให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ โดยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 586 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

ขณะที่ราคาของเวียดนาม และปากีสถานอยู่ที่ 643-647 และ 563-567 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 586 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 508-512 และ 536-540 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน 2566) มีปริมาณ 6,082,136 ตัน มูลค่า 117,589.6 ล้านบาท (3443.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 12.3% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 5,418,237 ตัน มูลค่า 95,358.5 ล้านบาท (2,799.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)