สรุปคดี วินด์ เอนเนอร์ยี่ คุณหญิงกอแก้ว-ณพ ไม่ได้โกง

วินด์

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา พร้อมด้วยลูกเขยคือ นายณพ ณรงค์เดช และที่ปรึกษากฎหมาย ทั้งนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ และนายอภิวุฒิ ทองคำ แถลงข่าวสรุปคดีหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) และปมร้าวครอบครัวณรงค์เดช หลังจากคดีความทั้งหมดถูกพิสูจน์ความจริง ยืนยันความบริสุทธิ์มานาน 6 ปี

จุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นจากกรณีที่ “นายนพพร ศุภพิพัฒน์” ได้ขายหุ้นของบริษัท วินด์ฯ ผ่านบริษัท REC ที่เขาถือหุ้นอยู่ หลังติดคดีมาตรา 112 โดยสัญญาซื้อขายเป็นแบบ “ขายขาด” ซึ่งตอนนั้น ภาพรวมโครงการทั้งหมดมี 7 โครงการ 717 เมกะวัตต์ มูลค่า 700 ล้านเหรียญ แต่เพิ่งสร้างเสร็จไป 2 โครงการ รวม 175 ล้านเหรียญทั้งก้อน หรือประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท แบ่งชำระเงินเป็น 2 งวด คือ งวดแรก 90.5 ล้านเหรียญ และ 85.75 ล้านเหรียญ

ส่วนที่เหลืออีก 5 โครงการตอนนั้นยังไม่เสร็จ จึงได้ทำสัญญาจ่ายส่วนที่เหลือเป็นแบบ “bonus payment” รวม 525 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งความแน่ใจคือ ต้องมีสัญญาที่ดินกับ ส.ป.ก. และสัญญาซื้อขายไฟด้วย

ภายหลังเมื่อเปลี่ยนผู้บริหารจากนพพร เป็นนายณพ ส่งผลให้ธนาคารไทยพาณิชย์ยอมปล่อยสินเชื่อที่เคยอนุมัติ นั่นแปลว่าธุรกิจนี้ไปได้ฟื้นจากการใกล้ล้ม จึงทำให้นายนพพรฟ้องขอหุ้นคืน ซึ่งสุดท้ายอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินว่า “สัญญาขายขาดไม่สามารถคืนหุ้นได้” นายนพพรจึงต้องรับเงินงวด 2

แต่นายนพพรไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะยังไปร้องที่ประเทศอังกฤษ โดยอาศัย “กองทุนค้าความ” และได้ขยายการฟ้องไปที่จำเลยใหม่ คือ “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB ด้วย (จากที่ในไทยไม่มีการฟ้อง SCB)

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ตามหลักแล้วหากฟ้องคดีอาญา (โกงเจ้าหนี้) ที่ประเทศไทยก่อน โจทก์ก็จะสามารถฟ้องคดีแพ่งต่อที่ประเทศไทยได้เลย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายฐาน “ละเมิด” ซึ่งผลการพิจารณาความแพ่งจะจบหลังคดีอาญา

แต่นายนพพรกลับเลือกจะไปฟ้องที่อังกฤษ เหมือน “เปลี่ยนสนามรบ” และพยายามที่จะดึงเพื่อรอจนคดีที่อังกฤษจบก่อนซึ่งให้นายนพพรชนะ จากนั้นนำเอกสารผลสรุปคดีอังกฤษมายื่นที่ศาลไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ผลสรุปสุดท้ายด้วยหลักฐาน พยาน และความแตกต่างของวิธีการพิจารณาความ นำมาสู่บทสรุปที่ “ศาลแขวงพระนครใต้” ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ว่า“นายณพ”ไม่ได้โกงเจ้าหนี้ ถือเป็นบทสรุปคดีที่ 5 ซึ่งเป็นบทสรุปคดีสุดท้ายในประเทศไทย เท่ากับว่า “ชนะทุกคดี

ขณะที่ศาลอังกฤษ ซึ่งเป็นศาลเดียวที่ตัดสินให้ “นพพร” เป็นสุจริต และให้นายณพและคุณหญิงชดเชยค่าเสียหาย โดยไม่รับฟังความเห็นข้อโต้แย้ง ทั้งเรื่อง การหนีคดี 112 การบิดเบือนใช้เอกสารเท็จที่ศาลฮ่อง เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาของอังกฤษจะถือเป็นเรื่องที่สุดสุดไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ยกเว้นการยื่นต่อศาลใหม่ ซึ่งขณะนี้จำเลยร่วมรายใหญ่ ได้ยื่นคำร้องเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

ประเด็นนี้ ที่ปรึกษากฎหมาย “วีระวงค์” ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาลอังกฤษใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตพิจารณาทั้งที่รู้ว่ามีคดีอาญาคาอยู่ที่ศาลไทย และจนกระทั่งได้ข้อสรุปออกมานั้น อาจจะมองได้ว่าเป็นการ “ละเมิดอำนาจตุลาการของไทย” หรือไม่ และคดีนี้เป็นเพียงคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นจากหลาย ๆ คดี ซึ่งต่อไปหากเกิดข้อขัดแย้งในลักษณะนี้ คนไทยจะไม่สามารถฟ้องอังกฤษได้

ยืนเงินครอบครัว ไม่ใช่ลงทุน

ในฝั่งคดีความกับครอบครัว ซึ่งได้ผลสรุปเช่นเดียวกันว่า ไม่ได้มีพยานและหลักฐานยืนยันได้ว่ามีการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ซึ่งกรณีฝ่ายโจทก์เบิกความแบบลอยๆ ไม่สามารถยืนยันเรื่องเงินที่อ้างว่ามาร่วมลงทุนได้ และนายณพก็ยังเป็นผู้รับภาระเงินกู้เอง จึงพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่การโกงพี่โกงน้อง

เงินลงทุนใน WEH นั้นเป็นเงินกู้ครอบครัว ที่มีสัญญาและจ่ายดอกเบี้ยให้ครอบครัวตามระบบเงินกู้ โดยขณะนี้ทยอยจ่ายไปพอสมควรแล้ว ประเด็นนี้จะนำมาอ้างว่าเป็นการลงทุนโดยธุรกิจกงสีของครอบครัวไม่ได้ เพราะตอนแรกที่ได้ชวนครอบครัวร่วมลงทุนด้วยกัน ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกว่าเป็นธุรกิจ “เพ้อฝัน” จึงได้ขอให้คุณกอแก้วช่วย

สำหรับทรัพย์สินที่ถือร่วมกันกับพี่น้อง คือ ทรัพย์มรดกคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช หลายรายการที่กำหนดตามพินัยกรรม ซึ่งยังไม่ได้แบ่งตามเจตนารมณ์คุณแม่ แต่ยังไม่ได้มีการแบ่งมา โดยบริษัทที่ 3 พี่น้องถือหุ้นร่วมกันสัดส่วนคนละ 1 ใน 3 ก็มีเพียงบริษัท เคพีเอ็นแลนด์ เท่านั้น ซึ่งในอดีตผมได้ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจนี้ให้ครอบครัวด้วยความเต็มใจ จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งเรื่อง WEH ผมจึงโดนกันออกมาไม่ให้บริหาร หรือร่วมตัดสินใจใด ๆ รวมถึงกรณีเคพีเอ็นแลนด์เข้าไปถือหุ้น บมจ.ไรมอนแลนด์ด้วย

อีกด้านหนึ่ง “นายณพ” ยังได้มีความสนใจทำธุรกิจส่วนตัว เพราะจากที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่สอนให้ทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต สำหรับธุรกิจส่วนตัว คือ สถาบันดนตรีเคพีเอ็น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผมรักและภูมิใจมากเพราะตามความปรารถนาของคุณแม่ ปัจจุบันมี 26 สาขา ทั่วประเทศ ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลนวเวช**ได้เกิดจากการร่วมหุ้นกับพันธมิตร 2 ราย

“ที่ผ่านมาเมื่อพบธุรกิจที่น่าสนใจจะชวนพี่และน้องก่อนเสมอ รวมถึงการลงทุน WEH ด้วย ถามว่าสนใจจะร่วมทุนหรือไม่ ผมได้คำตอบว่าเพ้อฝัน เขาปฏิเสธไม่ลงทุนกับผม ผมจึงเดินหน้าสรรหาเงินทุนด้วยตนเอง เพราะเชื่อเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และเมื่อผมได้เข้าไปบริหารจนมีกำไร สามารถจ่ายปันผลได้ พี่กับน้องก็มากล่าวอ้างว่าได้ร่วมลงทุนด้วย ผมได้ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม

แต่ทั้งสองได้ไปยื่นฟ้องผม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ บังคับให้โอนหุ้น WEH ให้เขาทั้งสองคนรวมกัน 49% แบบฟรี ๆ โดยอ้างว่าลงทุนด้วย ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาว่าไม่ได้มีการร่วมลงทุนซื้อ WEH นอกจากนี้ยังฟ้องคดีอาญาว่าผมและคุณหญิงกอแก้วใช้เอกสารปลอม เพื่อเป็นการกดดันให้ผมยอมแบ่งหุ้น WEH ให้เขาทั้งสอง ซึ่งศาลได้ยกฟ้องทั้งคดี”

กราฟฟิก คดี

สรุปคำพิพากษาชนะคดีตลอด 6 ปี

บทสรุปไล่เรียงไปคดีที่ 1-5 ทั้งในไทยและฮ่องกง (กราฟิก) ขณะนี้ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง 3 คดี ถอนฟ้อง 1 คดี และถอนฟ้องให้ชำระค่าเสียหาย 1 คดี

โดยคดีที่ 1 คดีฮ่องกง HCA 1525/2018 (ศาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง) ดร.เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด จำเลยที่ 1 ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 2 คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 3 เรื่องละเมิดและขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อ 2561 คำพิพากษา อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง โดยให้ชำระค่าใช้จ่ายในอัตราสูงสุด ให้แก่จำเลย

คดีที่ 2 คดีใช้เอกสารปลอม อ.2497/2561 (ศาลอาญา รัชดา) นายเกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์อ้างว่าตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด ฟ้องคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 1 ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 2 และสุรัตน์ จิรจรัสพร จำเลยที่ 3 เรื่องความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เมื่อปี 2561 คำพิพากษา ยกฟ้อง พยานผู้เชี่ยวชาญยันกันไม่อาจรับฟังเป็นยุติ ลายมือชื่อไม่ได้ผิดแผกแตกต่างให้เห็นชัดเจนว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เงินช่วยเหลือจากครอบครัวก็เป็นเงินกู้ยืม ซึ่ง นายณพ รับผิดชอบภาระหนี้และการบริหารจัดการคนเดียว จึงไม่ใช่การร่วมลงทุนในความหมายของกฎหมาย พยานโจทก์รับฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัย ว่าเอกสารทั้ง 3 ฉบับเป็นเอกสารปลอม

คดีที่ 3 คดีเรียกทรัพย์คืน พ.1031/2562 (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ดร.เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 14 คน และมีจำเลยร่วมอีก 31 คน เมื่อปี 2562 เรื่องให้เรียกทรัพย์คืน (หุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด) คำพิพากษา โจทก์ขอถอนฟ้อง ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเรื่องนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินปันผลของบริษัท วินด์ฯ โดยให้เหตุผลชัดเจนว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้หากฟังว่า เกษม ให้หุ้นดังกล่าวแก่ ณพ การเรียกคืนจะต้องปรากฏว่า ณพ ประพฤติเนรคุณ แต่ไม่ปรากฏเหตุว่า ประพฤติเนรคุณ

คดีที่ 4 คดีผิดสัญญา เรียกทรัพย์คืน พ.978/2565 (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง ณพ ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เป็นจำเลยที่ 4 เมื่อปี 2565 เรื่องสัญญาเพิกถอนนิติกรรม เรียกทรัพย์คืน

คำพิพากษา ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า เอกสารดังกล่าวในการโอนหุ้นไม่เป็นเอกสารที่แท้จริง หรือเป็นพยานเอกสารที่รับฟังไม่ได้เพราะเหตุใด ข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานกฎหมาย เมื่อโจทก์สืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า การโอนหุ้นพิพาทหรือการซื้อหุ้นพิพาทมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ก็ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่เป็นโมฆะ เรื่องความเห็นเจ้าของหุ้นของโจทก์ทั้งสอง เมื่อได้

ความว่า เงินที่ซื้อหุ้นพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองและไม่ปรากฏว่าเอกสารที่อ้างเป็นเอกสารปลอม การโอนหุ้นพิพาทถูกต้องตามแบบของกฎหมาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของหุ้นพิพาท ไม่จำต้องโอนหุ้นคืนแก่โจทก์ทั้งสอง

และคดีที่ 5 คดีปลอมลายเซ็น อ.1708/2564 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1) เป็นโจทก์ฟ้อง นายณพ ณรงค์เดช กับพวกรวม 3 คน เมื่อปี 2564 ในฐานความผิด ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษา ยกฟ้อง ศาลใช้ดุลพินิจรับฟังว่า เอกสารทั้ง 6 ฉบับปลอม แต่ทางนำสืบและพยานหลักฐานรวมทั้งคำเบิกความของเกษมไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ยืนยันว่า ณพ คุณหญิงกอแก้ว และสุภาพร เป็นผู้ปลอม มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงลายมือชื่อหรือนำมาใช้หรืออ้างชื่อใด ซึ่ง กฤษณ์ ก็เบิกความว่า ไม่ทราบว่าใคร เป็นผู้ลงลายมือชื่อปลอม ส่วน กรณ์ ก็เบิกความว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในขณะลงลายมือชื่อ จึงไม่ทราบว่า ผู้ใดลงลายมือชื่อ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันปลอมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอม

ไม่ปลอม-ไม่โกง

ไฮไลต์สำคัญ คือ การเปิดใจของคุณหญิงกอแก้ว ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่อดทนรอจนศาลยกฟ้องคดีปลอมลายเซ็นและการปลอมเอกสาร ด้วยประโยคที่ว่า “ศาลมีคำพิพากษาออกมาทั้ง 3 ศาลว่าดิฉันไม่ได้โกงและไม่ได้ปลอมลายเซ็นใครอย่างที่กล่าวหา” ที่ผ่านมามีการให้ข่าวที่ไม่ครบถ้วนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด ดิฉันอายุ 70 ปีแล้ว ชีวิตครอบครัวอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข ใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ ไม่จำต้องการอะไรของใคร

เหตุผลที่ช่วยเพราะ “ณพเป็นพ่อของหลานสองคน และเป็นสามีของลูกสาว ซึ่งเรารักเหมือนลูก วันนั้นไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเขาเลย และไม่มีใครอยากยุ่งกับบริษัทนี้ เมื่อรักลูก รักหลาน ก็ต้องรักลูกเขยด้วย ถ้าดิฉันไม่ได้ซื้อหุ้นวินด์ฯไว้ บริษัทอาจถึงขั้นล้มละลาย เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะไม่ให้สินเชื่อ ณพมาพูดกับดิฉันเป็นคนสุดท้าย เพื่อขอความช่วยเหลือ จึงตัดสินใจว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่มีเงื่อนไขว่าแม่จะไม่ออกหน้า ณพหาคนที่เชื่อใจและไว้ใจได้มาใส่ชื่อแทนแม่”

แต่ไม่เคยคิดว่าเมื่อวินด์ฯพ้นวิกฤตทำรายได้หลายพันล้าน จะมีเหตุการณ์วุ่นวายตามมา

สถานะการถือหุ้น ณ ปัจจุบัน

“วีระวงค์” อธิบายว่า มูลค่าหุ้นที่ซื้อขายกัน ตีราคาด้วยการประเมินเป็นช่วงเวลาขึ้นกับสภาพแต่ละช่วงซึ่งต่างจากทรัพย์อื่น ๆ หากธุรกิจดีราคาก็ดี ซึ่ง วันนั้น ราคาที่ซื้อขายกันเป็น “ราคาบุ๊กแวลู” เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า โรงไฟฟ้าวะตะแบกจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งบุ๊กแวลูขณะที่คุณหญิงซื้อคือ 2,400 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อสัญญาซื้อขายหุ้น REC มาให้ ดร.เกษม ถูกบอกว่าปลอม แสดงว่าการขายเป็น “โมฆะ” หรือไม่ แล้วตอนนี้ใครถือหุ้น เราก็ต้องเป็นคำถามไว้เช่นกัน เพราะตอนนี้ GML ซึ่งได้จาก ดร.เกษมก็ไม่ได้หุ้น เพราะถ้า ดร.เกษมบอกว่าสัญญาปลอมก็ยกเลิกไป เป็นคุณหญิงหรือไม่ก็ไม่ทราบนั่นยังเป็นคำถาม