นบข.ไฟเขียวช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 5.6 หมื่นล้าน แง้มช่วยเป็นปีสุดท้าย

เกษตรกรไทย

นบข.ไฟเขียวจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ให้กับเกษตรกรไม่เกิน 20 ไร่ ครัวเรือนละ 20,000 บาทแล้ว เตรียมชง ครม.อนุมัติ 14 พ.ย.นี้ จ่ายเงินได้ทันที พร้อมมอบ “เกษตร” หามาตรการพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าว เพื่อไม่ต้องจ่ายแบบนี้อีกในปีต่อไป เผยยังได้ปรับมาตรการสินเชื่อชะลอการขาย ให้เกษตรกรที่มียุ้งฉางเก็บเอง ได้ตันละ 1,500 บาทด้วย ส่วนชดเชยดอกเบี้ยเก็บข้าว ให้แค่โรงสี ดึงกรุงไทยช่วยปล่อยกู้

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ว่า ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท

โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า (14 พ.ย. 2566) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะไม่ถือว่าผิดวินัยการเงินการคลัง และหากผ่านการพิจารณาจะสามารถเริ่มดำเนินการทันที

สำหรับชาวนาที่จะร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปลูกข้าวปี 2566/2567 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน และมีระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2566 ไปจนถึง 30 กันยายน 2567

“ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ใช้โครงการนี้ ไม่ใช่เพราะเป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ที่มีคุณภาพสูง ใช้แนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพพิจารณาหามาตรการที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ทั้งการจัดหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ การบริหารจัดการใหม่ ๆ เพื่อให้คุณภาพข้าวดีขึ้น จะได้ไม่ต้องดูแลแบบนี้ทุกปี ถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย จะเกิดกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยเกษตรกรให้เพาะปลูกข้าวที่มีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น และต้นทุนต่ำลง”

พร้อมกันนี้ที่ประชุมพิจารณาเพิ่มองค์ประกอบของ นบข. 3 ราย ได้แก่ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ อีก 2 ราย เป็นกรรมการ และขอเพิ่มองค์ประกอบของ กข. จำนวน 2 ราย เป็นอนุกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานบริหารจัดการข้าวเป็นไปด้วยความราบรื่น คล่องตัว

มีการพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ ครบทุกด้าน ซึ่งจากนี้จะนำมติดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามระเบียบต่อไป ให้ทันในวันอังคารหน้า (14 พ.ย. 2566)

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด แบ่งเป็น สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ยุ้งฉาง) และสินเชื่อเพื่อให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยทั้ง 2 มาตรการมีวงเงินรวมกว่า 55,038.96 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท

ช่วยค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้พิจารณาปรับปรุงมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (รับฝากเก็บยุ้งฉาง) ที่ผ่านการพิจารณาของ นบข.ครั้งที่ 1/2566 เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยมีเป้าหมาย รับฝากเก็บ 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยค่าฝากเก็บให้ชาวนา และสหกรณ์ที่มียุ้งฉางตันละ 1,500 บาท

ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มียุ้งฉาง ถ้าเก็บที่สหกรณ์ สหกรณ์จะได้ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้ตันละ 500 บาท และสามารถนำข้าวที่ฝากเก็บขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้

สำหรับราคาเป้าหมายที่เกษตรกรจะได้รับ ข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้

ส่วนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท ได้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะชดเชย โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% เท่าเดิม และรัฐช่วยดอกเบี้ย 3.50-3.85% เพราะ ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.50-4.85% ระยะเวลา 15 เดือน

สำหรับมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการเก็บสต๊อกข้าว ได้กำหนดให้มีการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีเพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ส่งออกและผู้ประกอบการข้าวถุง ได้ตัดออก โดยรัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี ที่เหลือโรงสีรับผิดชอบ และให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาช่วยปล่อยกู้ ซึ่งจะมีการนำเสนอกรอบวงเงินชดเชย อัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยให้ นบข. และ ครม.พิจารณาต่อไป

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปดูแลให้สหกรณ์การเกษตรรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสดจากเกษตรกรในราคาตันละ 12,000 บาท เป้าหมาย 1 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นการซื้อขาด เพื่อช่วยดูแลราคาข้าวให้กับเกษตรกร ส่วนข้าวที่สหกรณ์ซื้อไว้ ก็จะนำไปแปรรูปหรือดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ มีสหกรณ์ 480 สหกรณ์

รายงานระบุว่า มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสีรวบรวมข้าว 4% คาดว่าจะใช้วงเงินชดเชย 780 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน ทั้งนี้จะใช้วงเงินกู้ 40,000-50,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท

เบื้องต้นคาดว่ามีโรงสีสนใจที่จะเข้าร่วมเก็บฝากประมาณ 3-3.5 ล้านตัน จากนี้จะอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์ถัดไป