ราคาน้ำมันดิบ (17 พ.ย. 66) ปรับลด หลังกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ-จีนชะลอตัว

ราคาน้ำมันดิบ
REUTERS/Bing Guan

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หลังกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และจีนชะลอตัว

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับตัวลดลง หลังนักลงทุนยังคงกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในสหรัฐและจีน จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ล่าสุดสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 231,000 ราย ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน และสูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 220,000 ราย

ขณะเดียวกันตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ต.ค. 66 ปรับลดลง 0.1% และภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมากกว่าตัวเลขที่คาดไว้ว่าจะลดลง 0.4%

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 16 พ.ย. 2566 อยู่ที่ 72.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -3.76 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 77.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -3.76 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญภาวะอ่อนแอจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังทรุดตัวรุนแรงมากขึ้น ฉุดรั้งภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 4.6% จากระดับ 4.5% ในเดือน ก.ย. 66

ตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 26 พ.ย. 66 หลังซาอุดีอาระเบียและรัสเซียยืนยันที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปจนถึงสิ้นปี 66 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Energy Aspect คาดว่า ซาอุดีอาระเบียอาจขยายการลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจากปลายปีนี้ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1 หรือกลางปีหน้า

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ของอินเดียมีแนวโน้มลดลงหลังจากหมดช่วงเทศกาล อย่างไรก็ตาม สต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐปรับลดลง 5.4 แสนบาร์เรล แตะระดับ 8.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าความต้องใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงอ่อนตัว อีกทั้งอุปทานในอินเดียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังคาดว่าโรงกลั่นในประเทศจะเพิ่มการผลิตขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้