ส่งออกกุ้งไทยส้มหล่น ปี’67 กวาด 3 แสนตัน ‘สหรัฐ’ จ่อรีดเอดี

กุ้ง 67

ส่งออกกุ้งไทยปี’67 ส้มหล่น โตพรวด 10% ทะลุ 3 แสนตัน พ้นวิกฤต perfect storm หลังสหรัฐจ่อรีดภาษีเอดีกุ้งคู่แข่ง 4 ประเทศคู่แข่งดัมพ์ตลาด สมาคมกุ้งไทย เดินหน้ากระทุ้งรัฐบาลช่วยแก้โรคกุ้งวาระร้อน พร้อมหนุนเปิดเอฟทีเอไทย-อียู ได้ลดภาษีแทน GSP

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 ว่า ปี 2567 คาดว่าไทยจะสามารถผลิตและส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้น 10% หรือ 308,000 ตัน จากปี 2566 นี้ที่คาดว่าจะทำได้ 280,000 ตัน

โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมกุ้งปี’67 มาจากการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้รับพิจารณาไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD, CVD) สินค้ากุ้ง จากประเทศคู่แข่ง 4 ประเทศ ได้แก่ เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม และอินโดเซีย

โดยสหรัฐเริ่มกระบวนการไต่สวน 14 พฤศจิกายน 2566 และประกาศผล 9 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้มีผู้นำเข้าที่เริ่มเกิดความลังเล ในการสั่งซื้อสินค้าจาก 4 ประเทศนี้ และโทรศัพท์มาสอบถามเพื่อเตรียมการสั่งซื้อจากไทยแทน

หากผลสอบเผยว่าทั้ง 4 ประเทศมีการทุ่มตลาดส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหรัฐ อย่างไม่เป็นธรรมด้านราคา อาจส่งผลให้ทั้ง 4 ประเทศโดนเรียกเก็บภาษี (AD/CVD) สูงถึง 10%

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ

แก้โรคกุ้ง วาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเตรียมพร้อมด้วยการแก้ปัญหาหลักซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของไทย คือโรคกุ้งควรจะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิต และต้นทุนของเกษตรกรสามารถแข่งข้นได้

“5 ปีที่ผ่านมา พูดปัญหาเรื่องโรคกุ้งมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น โรคตายด่วน หรือ EMS โรคตัวแดงดวงขาว โรคขี้ขาวโรคหัวเหลืองซึ่งทำให้ผลผลิตกุ้งในไทยลดลง ณ ขณะนี้ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นในเวียดนามและในจีนซึ่งไทยจะต้องมีการเพิ่มการเฝ้าระวังเรื่องโรคมากขึ้นควรจะได้รับการหยิบยกเป็นวาระแห่งชาติเรื่องหนึ่ง”

ดันเปิดตลาด FTA ไทย-อียู

เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องการทำตลาดกุ้ง ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมได้เข้ายื่นหนังสือต่อหอการค้าไทยเพื่อขอให้รัฐบาลที่ผ่านมาเร่งแก้ไขปัญหาหลังจากถูกตัดสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (GSP) จากตลาดสหภาพยุโรป ทำให้ปริมาณการส่งออกจากการส่งออกจากไทยไปยุโรปลดลง จากที่ำทนเคยส่งออกไปอียูได้ปีละ 60,000 ตัน ตอนนี้เหลือเพียง 957 ตันต่อปีหากรัฐบาลสามารถเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย EU ทำให้การส่งออกฟื้นกลับมาสักประมาณ 30,000 ตันก็จะช่วยกระตุ้นตลาดกุ้งได้อีกทางหนึ่ง

“การถูกตัด GSP ของ EU ทำให้กุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันได้หากเทียบกับกุ้งคู่แข่งอย่างเวียดนามซึ่งมีการเจรจา FTA กับ EU ทำให้ราคากุ้งเวียดนามได้เปรียบไทยเช่นกุ้งเวียดนามขาย 100 บาทแต่กรุงไทยต้องขาย 120 บาททำให้ไทยเสียเปรียบ”

ทั้งนี้ การส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ปริมาณ 109,663 ตัน มูลค่า 36,284 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 120,310 ตัน มูลค่า 42,341 ล้านบาท ปริมาณลดลง 9% ส่วนมูลค่าลดลง 14% โดยตลาดหลักของไทยคือสหรัฐ ญี่ปุ่นและจีน

เอกชนอ่วม perfect storm

นายเอกพจน์กล่าวว่า ในด้านการผลิต ปี 2566 ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวม อยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ สวนทางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง เพื่อรอดูสถานการณ์ รวมถึงปัญหาโรคและสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมแนะเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพการผลิต และส่งเสริมการตลาดภายในให้เข้มแข็ง เตรียมรับมือผลกระทบราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก

“ปีนี้เป็นปีที่อุตสาหกรรมกุ้งมีความยากลำบากเพราะประสบภาวะ perfect storm ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นพร้อมกันมาก่อนแต่ปีนี้เจอทั้งหมด 4 ปัจจัย คือปัญหากุ้งล้นตลาดจากการที่เอกวาดอร์เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและมีการส่งไปดัมพ์ตลาดต่าง ๆ จนทำให้ราคากุ้งตกต่ำลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นหลังจากสงครามทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นกุ้งยังต้องเผชิญปัญหากับโรคกุ้ง ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องหลายโรค”

ผลผลิตกุ้ง ปี’66

สำหรับปริมาณผลผลิตกุ้งคาดว่าจะได้ประมาณ 280,000 ตัน แบ่งเป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนบน 33% จากภาคตะวันออก 25% ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน 20% จากภาคกลาง 12% ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 10%

“เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง ที่เกิดจากความเสียหายจากโรค เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำในปีหน้า โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าที่คงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว”

ผลผลิตกุ้งโลก ปี 2567

ส่วนแนวโน้มผลผลิตกุ้งทั่วโลกปีหน้าคาดว่าลดลงประมาณ 2% จากปีนี้ที่ผลิตได้ 5.07 ล้านตัน ซึ่งลดลง 1% จากปี 2565

โดยประเทศจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เอกวาดอร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ผลิตกุ้งลดลงทุกประเทศ

เลือกพันธุ์กุ้งดี

ด้าน นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า แม้ผลผลิตกุ้งไทยปี 2566 จะได้ผลผลิตเท่าเดิม แต่เมื่อดูจากปริมาณลูกกุ้งที่ลดลง แสดงถึงประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้น ถือเป็นจุดแข็งของไทยที่มีสายพันธุ์ลูกกุ้งที่หลากหลาย ทั้งนี้ เกษตรกรต้องพิจารณาเลือกลูกุก้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ ศักยภาพบ่อ และความสามารถในการจัดการการบ่อของแต่ละราย

“ปริมาณผลผลิตที่ทรงตัวในปีนี้ สาเหตุหลักเพราะปัญหาโรคกุ้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิต วัตถุดิบต่าง ๆ และราคาพลังงาน สูงขึ้น เกษตรกรบางรายสามารถปรับตัวโดยพยายามเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ขึ้นเพื่อหนีราคา แต่บางรายก็ชะลอการลงกุ้ง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากผลผลิตกุ้งยังคงเข้าตลาดอย่างต่อเนื่องในขณะที่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ และผู้นำเข้ากุ้งยังมีสต็อกเพียงพอ” นายบรรจงกล่าว

ผู้เลี้ยงกุ้ง 4 ภาค ประสานเสียง

สำหรับปริมาณผลผลิตกุ้งรายภาคของประเทศไทย มีข้อมูลจากกรรมการสมาคมนั้น นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามันว่า ผลผลิตปี 2566 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 55,700 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6% พบการเสียหายปัญหาขี้ขาว และสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกษตรกรจับกุ้งก่อนกำหนด และช่วงปลายปีที่ฝนตกมาก จะมีปัญหาความเค็ม ทำให้เกษตรกรทยอยจับและพักบ่อ

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีประมาณ 69,900 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา จากปัญหาโรคตัวแรงดวงขาว ขี้ขาว และ หัวเหลือง เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และยังมีปัญหานต้นทุนการเลี้ยงทั้ง อาหารสัตว์ ค่าไฟ เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง หรือปล่อยกุ้งลดลง

ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 34,200 ตัน เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรบางส่วนยืดเวลาการเลี้ยงเพื่อให้ได้กุ้งไซซ์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้กุ้งโตช้า และมีความเสียหายจากโรคระบาด

นายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบนปี 2566 ประมาณ 93,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4% และจากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรพยายามเลี้ยงกุ้งขาวให้ได้ขนาดใหญ่ เกษตรกรบางส่วนหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำเนื่องจากราคาดีทั้งปี

นายปรีชา สุขเกษม กรรมการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 28,100 ตัน ลดลง 4% ผู้เลี้ยงประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โรคระบาด และสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรลดความหนาแน่นลงเพื่อเลี้ยงกุ้งไซซ์ใหญ่ ช่วงปลายปีฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีความเค็มต่ำ เกษตรกรทยอยจับกุ้งแล้วพักบ่อเพื่อเตรียมเลี้ยงครอปต่อไปในปีหน้า

กุ้ง