“ปตท.-บางจาก” อู้ฟู่ ทุ่มลงทุนปี’67 เกือบ 8 หมื่นล้าน

ปตท.-บางจาก

ในภาวะเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยที่เหนือการควบคุม ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2566 มีโอกาสจะขยายตัวเพียง 2.6% เท่านั้น

ขณะที่ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนเหล่านี้อาจจะไม่คลี่คลายลงไป ภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะส่งผลต่อรายได้ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ยังเหลือความหวังอย่างหนึ่ง คือ การขับเคลื่อนภาคการลงทุน เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งในนาทีนี้เห็นจะมีแต่พี่ใหญ่ บิ๊กคอร์เปอเรตต่าง ๆ ที่จะใส่เงินลงในระบบเศรษฐกิจ

นับว่าเป็นข่าวดีปลายปีที่พี่ใหญ่ด้านพลังงาน อย่าง “บมจ.ปตท.” หรือ PTT และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประกาศแผนการลงทุนก่อนสิ้นปี ซึ่งหากรวมทั้งสองค่ายจะมีเม็ดเงินลงทุนถึง 2.4-2.5 แสนล้านบาท ในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า ซึ่งหากแยกเฉพาะปี 2567 จะเห็นเม็ดเงินลงทุนรวม 76,000-77,000 ล้านบาท

บางจากลุยต่อหลังรวมเอสโซ่

เริ่มต้นจาก “นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2567 บางจากจะมีรายได้ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีรายได้ 3.6 แสนล้านบาท

ซึ่งเท่ากับทุบสถิติ 40 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมา เป็นผลจากการรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เต็มปี

แม้ว่าจะสามารถสร้างรายได้เติบโตพรวด “เหนือกว่า” การเติบโตของตลาดพลังงานของประเทศไทย แต่บางจากไม่หยุดที่จะลงทุนพัฒนาตัวเองต่อ

ด้วยการวางงบประมาณลงทุน 7 ปี ระหว่างปี 2024-2030 (2567-2573) โดยวางไว้ใน 1.5 แสนล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนสำหรับธุรกิจโรงกลั่น และการตลาด 30% ธุรกิจจัดหาทรัพยากรธรรมชาติ 30% ธุรกิจพลังงานสะอาด 30% และธุรกิจชีวภาพและธุรกิจใหม่ 10%

ซึ่งเฉพาะในปี 2567 เตรียมจะใช้งบประมาณในการลงทุน 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดหาทรัพยากรธรรมชาติ 17,000 ล้านบาท พลังงานสะอาด 14,000 ล้านบาท การลงทุนด้านโรงกลั่นและเทรดดิ้ง 9,000 ล้านบาท โรงกลั่นบางจาก ศรีราชา (BSRC) 1,700 ล้านบาท ธุรกิจใหม่ 5,000 ล้านบาท การตลาดน้ำมัน 1,700 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ไบโอเบส 800 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาสมดุลของความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Energy Trilemma) ผ่านการผสานประโยชน์ของธุรกิจด้วยการ Synergy ระหว่างกัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงสุด และมีการพัฒนา Platform for Growth เพื่อการเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงพลังงานได้ในราคาที่เป็นธรรม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับสังคมไทยและบริษัท

3-1 ตาราง ปตท-บางจาก

เปิดแผนลงทุน 5 ปี ปตท.

ล่าสุด “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 บอร์ด ปตท.อนุมัติงบฯลงทุน 5 ปี ระหว่างปี 2567-2571 ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 30,636 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 34% ของงบฯลงทุนทั้งหมด

2.ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 14,934 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของงบฯลงทุนรวม 3.ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย วงเงินลงทุนรวม 3,022 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของงบฯลงทุนรวม

4.ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ วงเงินลงทุนรวม 12,789 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 14% ของงบฯลงทุนรวม 5.การลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% วงเงินลงทุนรวม 27,822 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 31% ของวงเงินลงทุนรวม

ปตท.ปี’67 เน้นก๊าซธรรมชาติ

หากแยกเฉพาะปี 2567 ปตท.จะลงทุนรวม 26,283 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 9,107 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 6,363 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 999 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ ลงทุน 1,976 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% รวม 7,838 ล้านบาท

ทิศทางการลงทุนของ ปตท. ไม่เพียงมุ่งพัฒนาธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยวางงบประมาณสัดส่วน 51% ของแผนลงทุน 5 ปี

โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 เท่านั้น

แต่ยังลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี Cell-To-Pack (CTP)

รวมถึงโครงการการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามวิสัยทัศน์ “Powering life with future energy and beyond”

โอกาสใหม่เปลี่ยนผ่านพลังงาน

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ปตท.ยังมองข้ามชอตไปอีก เพราะนอกจากแผนการลงทุน 5 ปีแล้ว ยังมองโอกาสการลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก โดยการจัดสรรวงเงินไว้ 106,932 ล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ

ซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition FueI) โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ตลอดจนการขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science)

ซึ่งรวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการ และอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการ ด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจ โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ

แน่นอนว่าการลงทุนของ 2 ค่ายพลังงานใหญ่ จะไม่เพียงสร้างรายได้และการเติบโตให้กับบริษัท แต่ยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ ซึ่งจะหนุนนำการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตอีกทางหนึ่ง