ปตท.ผนึกจีนขนส่งข้ามทวีป เชื่อมโลจิสติกส์ ปั้นธุรกิจเทรดเดอร์

ชาญศักดิ์ ชื่นชม
ชาญศักดิ์ ชื่นชม

เปิดแผน ปตท.ปักหมุดเชื่อมเส้นทางโลจิสติกส์ข้ามทวีป อาเซียนผ่านรถไฟจีน-ลาวสู่ยุโรป ขีดเส้น 2 ปีสร้าง Multimodal Logistics เสริมแกร่งประเทศ ลดต้นทุนขนส่ง 2.4 แสนล้าน เริ่มทดลองขนสินค้าส่งผ่านรถไฟทะลุภาคตะวันตก-ใต้ประเทศจีน 5 เมืองใหญ่ “เฉิงตู-กวางโจว-ฉงชิ่ง-เจิ้งโจว-คุนหมิง” แห่ MOU แถมส่วนลดค่าขนส่งต่ำสุด 70% พร้อมเสนอให้พื้นที่ไทยสร้างแวร์เฮาส์ มั่นใจช่วยประเทศดันส่งออก “ทุเรียน-ยาง” ข้ามแดน คว้าโอกาสปั๊มรายได้ธุรกิจใหม่ “เทรดดิ้ง” 1,000 ล้านบาท จ่อคลอดโปรเจ็กต์ใหม่ปี’67 ลิงก์ราง-อากาศ ผนึก “การบินไทย-ทอท.”

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ที่ขนส่งสินค้าจาก สถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปยัง นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไปยัง สหพันธรัฐรัสเซียและสหภาพยุโรป การขนส่งสินค้าเที่ยวดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท Global Multimodal Logistics (GML)

ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ครบวงจร กับบริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์โรด จำกัด (PAS) บริษัทพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านระบบราง และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ถือเป็นขบวนทดลองนำร่องส่งสินค้าเกษตรผ่านระบบการขนส่งทางรถไฟไทย-จีน สอดรับกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบเศรษฐกิจเส้นทางของจีน ที่ผลักดันการเชื่อมโยงและเส้นทางการค้าระหว่างประเทศสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

เชื่อมโลจิสติกส์โลก

นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริษัท Global Multimodal Logistics หรือ GML เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า GML ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2565 “ครบ 1 ปีแล้ว” โดยบริษัทนี้เกิดจากนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ขณะนั้น (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ให้ ปตท.เข้าไปช่วยปรับปรุงและเชื่อมโยงระบบโลจิกติกส์ต่อเนื่องทุกระบบ หรือ Multimodal Logistics

จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์ ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยเทียบกับ GDP อยู่ที่13-14% คิดเป็นมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ต่างประเทศอย่างยุโรปมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 10% โดยไทยต้องพึ่งพาระบบโลจิสติกส์ทางบก โดยเฉพาะทางถนนกว่า 85% ซึ่งหากสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้ 1% ก็จะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท

“คำถามก็คือ เราจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อย่างไร เราต้องย้ายโหมดการขนส่งจากทางถนนที่มีต้นทุนสูงมาเป็นเรือและทางราง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ไม่ถึง 1% แต่นโยบายของ ปตท.ไม่สามารถไปทำงานแข่งขันกับภาคเอกชนที่เป็นลูกค้าซื้อน้ำมันได้ ดังนั้นเราจึงมองที่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 3 โครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระบบราง สนามบินอู่ตะเภา และส่วนขยายท่าเรือแหลมฉบัง

ซึ่งเราได้เฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนทางรางและทางอากาศไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทำให้เห็นข้อมูลว่า ภาพใหญ่ของประเทศไม่ใช่วิ่งในประเทศ แต่คือวิ่งระหว่างประเทศ ตามนโยบาย Beyond Logistic เรามองว่าจะลดต้นทุนได้ต้องเชื่อมโยงกับภูมิภาค ซึ่งจากการศึกษาจากทั้งยุโรปและสหรัฐเขาใช้ระบบ Multimodal Logistic

เราจึงวางเป้าหมายจะเชื่อมระบบราง-ทางอากาศ และทางน้ำ จากเดิมที่ใช้ Singlemode คือ รถก็รถ รางก็ราง หากทำได้สำเร็จประเทศไทยจะเหมือนอัพเกรดจากบอลโรงเรียนไประดับพรีเมียร์ลีกเลย”

ดังนั้นเป้าหมาย 2 ปี Multimodal จะต้องเชื่อมรางกับทางอากาศให้เสร็จ ต้องทำให้เร็วเพราะ “ถ้าเราช้า เวียดนามก็จะทำ” หรือแม้แต่เมียนมาหากก้าวพ้นปัญหาภายในประเทศก็อาจจะยกระบบขึ้นมา ซึ่งระบบนี้ทำได้เร็วมาก ๆ ส่วนเส้นทางหลักอาจจะไม่ครบทุกเส้นทาง แต่สุวรรณภูมิ เชื่อมลาว-มาเลเซีย-กัมพูชา และ 5 เมืองในจีน คือ คุนหมิง-ฉงชิ่ง-กว่างโจว-เจิ้งโจว-เฉิงตู ไปสู่รัสเซีย-ยุโรป

ผนึกลาว-เขมร-มาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นบริษัทมีการเดินสายหารือว่า ถ้าจะพัฒนาโลจิสติกส์ให้เป็นไปตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยทั้งหมดต้องทำอย่างไร และ ปตท.ต้องเข้าไปช่วยอย่างไร เราเริ่มจากเป็นพี่เลี้ยงให้กับการรถไฟไทย ในเรื่องการบริหารจัดการ ทำให้เห็นโอกาสว่า เรามีสินทรัพย์มหาศาล จะลองเชื่อมมาเลเซีย-ลาว-กัมพูชา

ดังนั้นจึงได้ทยอยเริ่มทำ บันทึกความเข้าใจ (MOU) ตั้งแต่ปี 2564 (ก่อนตั้ง GML) มาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏได้ทำไปแล้วทั้งหมดกับการรถไฟในประเทศกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ทั้งการรถไฟลาว, ผู้รับสัมปทานการรถไฟกัมพูชา Royal Railway และการรถไฟมาเลเซีย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคและลาวสามารถเชื่อมไปที่จีนได้ เราก็ไปทำความร่วมมือกับการรถไฟลาว-จีน และต่อเนื่องไปถึงการรถไฟที่จะเชื่อมไปยังสหภาพยุโรป

โดยผลสำเร็จแรกก็คือ การปลดล็อกปัญหา “คอขวดโลจิสติกส์” ที่เรียกว่า Missing Link เส้นทางรถไฟลาว-ไทย ที่เป็นจุดฮับจากสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ เวียงจันทน์ใต้ ไปสู่ สถานีท่านาแล้ง ระยะทาง 2.5 กม. ที่ยังไม่บรรจบกันและมีขนาดรางที่ไม่เท่ากัน ทำให้ต้องใช้รถบรรทุกขนจากสถานีหนึ่งไปสถานีหนึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย

แต่สิ่งที่ ปตท.ทำก็คือ ไปช่วยหาสินค้าให้ลาวใช้สร้างและซ่อมรางที่บิดเพื่อให้รถไฟมาบรรจบกัน ลดขั้นตอนที่ต้องขนส่งใส่รถบรรทุก ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ลาวให้สิทธิพิเศษส่วนลดและจะได้ลำดับความสำคัญเป็นคิวแรกสำหรับสินค้าที่ประเทศไทยส่งผ่านไป

เช่นเดียวกับกัมพูชา บริเวณจุดขนส่งทางรถไฟ ด่านคลองลึก ซึ่งมีระยะทาง 700-800 กม. ที่ก่อสร้างเสร็จนับสิบปี แต่ยังไม่มีการส่งไปเลยเพราะ ไม่มีจุดตรวจสอบเอกสารและพิธีการศุลกากร ในส่วนนี้ ปตท.ช่วยทำหน้าที่ประสานและปลดล็อกอุปสรรคให้ โดยเสนอทั้งทางกรมศุลกากร และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เมื่อเดือนก่อน

ให้ช่วยพิจารณาเรื่องการจัดตั้ง ด่านถาวรคลองลึก ส่วนการเชื่อมต่อกับ ประเทศมาเลเซีย นั้นยังเหลือกระบวนการเตรียมแก้ไขปัญหาการตัดขบวนรถไฟ บริเวณสะพานพระรามหก ซึ่งอาจจะพิจารณาเปิดชั่วโมงรถไฟช่วงตี 1-ตี 3 และหรือไปซ่อมสะพานเพื่อจะต้องไม่ตัดขบวนในลำดับต่อไป

การรถไฟจีน 5 เมืองแห่ MOU แถมส่วนลด-เงื่อนไขพิเศษ

นายชาญศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การขยายตลาดสู่จีนโดยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน หัวใจสำคัญที่จะทำให้การค้าไทย-จีนประสบความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือ 3 ระดับ คือ ระดับรัฐบาล-รัฐบาล, ระดับรัฐวิสาหกิจ-รัฐวิสาหกิจ และระดับเอกชน-เอกชน ซึ่ง ปตท.มีความพร้อมเพราะ “เป็นทั้งรัฐวิสาหกิจที่มีรูปแบบการดำเนินงานแบบเอกชน”

แต่ด้วยเหตุที่ ปตท.เชี่ยวชาญในวงการน้ำมัน แต่ในวงการโลจิสติกส์ ปตท. เป็น “โนเนม เป็น Beginer” ดังนั้น GML จึงร่วมกับ PAS บริษัทพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของเรา ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยที่มีผู้บริหารเป็นถึงอดีตผู้บริหารการรถไฟจีนมาช่วยทำการตลาดเจาะลึกลงไปในรายเมืองต่าง ๆ

จากเดิมที่ประเทศไทยส่งสินค้าไปจีนทางเรือ ซึ่งจะอยู่ที่ขอบชายแดนของจีนที่ติดทะเล แต่ขณะที่เส้นทางรถไฟลาว-จีนจะพุ่งไปตรงกลางประเทศจีนเลย เป็นระบบใหม่เข้าสู่ตลาดในโซนพื้นที่ใหม่ โดย “ฉงชิ่ง” มณฑลเสฉวน เป็นเมืองแรกที่ไปทำ MOU กับฉงชิ่งโลจิสติกส์ (ยูฉิงโหว) ซึ่งมี 5 หุ้นส่วนใหญ่ คือ รัฐบาลจีน-การรถไฟประจำเมืองฉงชิ่ง-การรถไฟรัสเซีย-การรถไฟคาซัคสถาน-การรถไฟเยอรมัน

เชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟที่มีระยะทาง 10,000 กม. ที่สามารถเชื่อมต่อกันไปสู่ยุโรป โดยเรากำลังจะเริ่มทดลองส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟในเดือนธันวาคมนี้ สาเหตุที่รอเพราะฉงชิ่งเป็นเมืองนวัตกรรม EV เป็นเมืองหลัก 1 ใน 4 ที่สำคัญขึ้นตรงกับรัฐบาลจีน และเป็นจุดเชื่อมไปยุโรป แต่เดิมไม่ได้ซื้อสินค้าเราโดยตรงทำให้ขาดข้อมูล Inland ว่าต้องการสินค้ากลุ่มใด

แต่พอมาถึงตอนนี้ ทางฉงชิ่งอยากจะทดลองวิ่งรถไฟระบบรางมาก ๆ เพราะ “กลัวตกขบวน” เนื่องจากมีอีก 2-3 เมืองที่ทำ MOU กับประเทศไทยทีหลัง แต่เริ่มขนส่งสินค้าไปก่อนแล้วก็คือ “กว่างโจว” ที่เป็นเมืองที่ค้ากับไทยเยอะสุดทางเรือ แต่พอได้เซ็น MOU และได้ให้ส่วนลดค่าขนส่งทางรถไฟให้กับสินค้าไทยถึงครึ่งหนึ่ง เริ่มขนไปหลายขบวนแล้ว ส่วน “เจิ้งโจว” ได้ทดลองส่งแล้ว 1 ขบวน

และที่มาแรงสุดคือ “เฉิงตู” ที่อ้างตัวว่า เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการส่งสินค้าจากจีนไปยุโรปเหมือนกัน และยังให้ส่วนลดค่าขนส่งกับเรา 70% และที่สำคัญ ยังให้ไทยตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยด้วย โดยกรณีของ “เฉิงตู” นี่เอง ทำให้ “ฉงชิ่ง” ต้องรีบมาเซ็น MOU รอบสองกับเราเมื่อสัปดาห์ก่อน

เทียบค่าขนส่งรถไฟ-เรือ-อากาศ

ความแตกต่างกันก็คือ เส้นทางรถไฟใช้เวลา 5วัน หรือเร็วกว่าเส้นทางเดินเรือ 10 วัน แต่ค่าขนส่งจะสูงกว่าการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้นสินค้าที่ต้องการความเร็วอย่างผลไม้ เช่น ทุเรียน น่าจะขนส่งเส้นทางนี้ได้ เพราะหากส่งไปทางเรือถึงเมืองตรงท่าเรือริมทะเล ยังไม่ทันกระจายเข้าไปในประเทศจีน สินค้าอาจจะเน่าเสียง่าย

แต่หากขนส่งทางรถไฟสามารถทะลุเข้าไปตอนกลางของประเทศจีน หรือเร็วกว่ากัน 5 วัน ส่วนค่าขนส่งสมมุติส่งทางเรือ กก.ละ 10 บาท ทางรถไฟ กก.ละ 15 บาท และทางเครื่องบิน กก.ละ 15 บาท ดังนั้นสินค้าขายเร็วต้องเลือกรถไฟ เพราะถ้าส่งสินค้าทางรถไฟไปแล้ว 200-300 ตู้ ส่งสินค้าทางเรือยังไปไม่ถึงท่าเรือเลย

“สินค้าที่มุ่งไปจะเป็นสินค้าที่รัฐบาลไม่มีโควตาควบคุม เช่น ยางพาราและผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ส่วนสินค้าข้าวและมันสำปะหลังนั้น รัฐบาลยังกำหนดโควตานำเข้า หากไปเจรจาหาลูกค้ามาได้ก็ยังเท่ากับเป็นการเปลี่ยนเส้นทาง แต่ไม่ได้ทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น

จึงต้องรอจนกว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเจรจาขยายโควตาส่งออกให้ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องลงนามพิธีสารเพิ่มจำนวนรายการสินค้าที่จะส่งไปจีนได้ ซึ่งท่านรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงจะเดินทางไปจีนในเดือนมกราคมปี 2567” นายชาญศักดิ์กล่าว

ตอนนี้ภาพของ ปตท. GML ในจีน กลายเป็น “แบรนด์บริษัทโลจิสติกส์” ไปแล้ว เพราะทุกครั้งที่มีการเซ็น MOU จะมีข่าวและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ ตอนนี้เข้าใจว่า ทางรัฐบาลห่วงเรื่องการนำเข้าสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามามาก ซึ่งผมเรียนว่า “คนไทยมี 70 ล้านคน กินข้าว 70 ล้านจาน หรือมากที่สุด 140 ล้านจาน

แต่คนจีนฝั่งตอนกลางและตะวันตก 700 ล้านคน กินข้าว 700 ล้านจาน ถึงเขาจะขายมาให้เรามากแค่ไหนก็ได้สูงสุด 140 ล้านจาน อย่างไรเราก็ชนะ ถ้าเขาซื้อ ซึ่งผมว่าสินค้าไทยในจีนสู้ได้ เรื่องขนส่งไม่ใช่ปัญหาหลัก ผมมั่นใจว่าขนส่งได้ถูกกว่าแน่”

ปั้น “เทรดเดอร์ขนส่ง” ธุรกิจใหม่

ในปี 2567 ปตท. และ PAS ยังมีภารกิจอีกมาก เพราะตอนนี้มีหลายเมืองที่ส่งคิวมาแล้ว จะขอทดสอบ แต่โจทย์ก็คือ “เราเริ่มด้วยงบประมาณที่เรามีไปทดลองซื้อสินค้าไปส่ง ซึ่งเรามีงบฯไม่มาก” ต้องรอคู่ค้าจ่ายกลับมาค่อยไปซื้อรอบใหม่ แต่ด้วยการทำงานทดลองวิ่งนี้ ทำให้เห็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ คือ “ธุรกิจเทรดเดอร์” เพราะรู้ราคาซื้อ-ราคาขาย และรู้ว่าขนส่งเท่าไร ซึ่งรายได้นี้กลับมาเป็นรายได้แบบไม่ที่ไม่ได้คาดคิด ถือเป็น New Business เพราะไม่ใช่ภารกิจหลัก

แต่ก็คิดว่าอาจจะเสนอ บอร์ด ปตท.พิจารณาโอกาสในธุรกิจเทรดเดอร์ เพื่อจะขยายเป็น “ธุรกิจใหม่” โดยอาจจะเริ่มเป็นแบบสปอต (ไม่ถาวร) และทำเฉพาะขาขึ้นอย่างเดียว ไม่ทำขาล่อง เพราะเห็นโอกาสแล้วจากที่คุยกับ การรถไฟคาซัคสถาน และยุโรป ทางเรือไปยุโรป 45 วัน แต่ทางรถไฟไปแค่ 20 วัน และยิ่งเกิดปัญหาเรื่องการขนส่งทางทะเลอย่าง กรณีทะเลแดง

นี่อาจจะเป็นเส้นทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกที่จะหันมาพึ่งพาและใช้ทางนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้เราวางเป้าหมายรายได้จากด้านการขนส่งในปี 2567 จะมีประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 7-8% หรือประมาณ 70-80 ล้านบาท

ถก AOT-การบินไทย

สำหรับการลงทุนในปีที่ผ่านมา เนื่องจาก GML เป็นธุรกิจที่เข้าเชื่อม Missing Link Infrastructure จึงไม่ต้องอาศัยเงินลงทุนมากนัก มีทุนจดทะเบียนตั้งต้น 230 ล้านบาท ส่วนปี 2567 แผนลงทุนจะเสนอบอร์ดพิจารณาเป็นรายโปรเจ็กต์ แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการให้ครบคือ การทดลองระบบวิ่งรถไฟให้ครบทุกเมืองที่เราไปทำ MOU เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจและอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลงทุนด้าน Digital Work เพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องข้อมูลและเอกสาร เพราะตอนนี้เรื่อง Physical Work เราพร้อมแล้ว

“พร้อมกันนี้จะมีการเตรียมโครงการลงทุนเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบสายการบินกับระบบราง โดยได้หารือและทำความร่วมมือกับ บริษัทการบินไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และพันธมิตร เพื่อร่วมมือกัน โดยจะยกระดับ ‘แวร์เฮาส์’ การบินไทย ให้เป็นระบบออโตเมชั่น 100% ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแนวทางการร่วมลงทุนซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบใด เช่น Joint Venture และต้องวางงบประมาณลงทุนเท่าใดก็จะเสนอ บอร์ด ปตท.พิจารณาอีกครั้งในลำดับต่อไป”