“อินเดีย” หวนคืน ส่งออกข้าวปี 2567 ไทยรับมือ “ราคาส่งออกดิ่ง”

ส่งออกข้าว

โค้งสุดท้ายการส่งออกข้าวไทยแรงไม่แผ่ว ล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่งออกได้ 1 ล้านตัน พุ่งขึ้น 41.8% รวมแล้ว 11 เดือน ไทยส่งออกข้าวไทย 7.9 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อน 14.7% และเกินเป้าหมายที่วางไว้ 7.5 ล้านตันไปแล้ว และหากเดือนสุดท้ายไทยส่งออกได้ 1 ล้านตัน เท่ากับว่าปีนี้ ไทยจะส่งออกได้ 8.9 ล้านตัน สูงกว่าทั้งปี 2565 ที่ทำได้ 7.7 ล้านตัน

ปัจจัยหลัก “อินเดีย”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมมุมมอง กูรูวงการส่งออกข้าว คาดการณ์ทิศทางอนาคต ปี 2567 นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วันนิวัติ กิตติเรียงลาภ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และรองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด และ นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด

ซึ่งให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการส่งออกข้าวในปีมังกร คือ “อินเดีย” โดยมีความไปได้สูงที่อินเดียจะหวนคืนสู่สังเวียนการส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงพฤษภาคม ปี 2567

ที่ผ่านมา อินเดียใช้นโยบายห้ามส่งออกข้าว (แบน) ข้าวขาวและข้าวบาสมาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อรักษาความนิยมจากการเลือกตั้ง จึงต้องห้ามส่งออกเพื่อลดความร้อนแรงของปัญหาราคาสินค้าในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเป็น 11% แต่ล่าสุดเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม ลดลงมาอยู่ที่ 6.24% แล้ว

นายชูเกียรติมองว่า เป้าหมายการส่งออกในปี 2567 น่าจะทำได้ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีนี้ซึ่งคาดว่าจะทำได้ 8.8 ล้านตัน เหตุผลจาก 1.ผู้ซื้อหลัก ๆ จะซื้อน้อยลงจากปีนี้ และ 2.อินเดีย อาจจะยกเลิกแบนส่งออกครึ่งหลังปีหน้า ซึ่งหากยกเลิกจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงอย่างน้อย 50 เหรียญสหรัฐต่อตันทันที เพราะราคาข้าวอินเดียถูกกว่าไทยประมาณ 100 เหรียญสหรัฐ

นายวันนิวัติกล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนแรก แม้ว่าอินเดียจะแบนส่งออกข้าว แต่มีตัวเลขการส่งออกข้าวชนิดที่ไม่ได้แบนรวมแล้ว 16 ล้านตัน จากปี 2565 ทั้งปีที่เคยส่งออกได้ 22.2 ล้านตัน

“การส่งออกข้าว ในปี 2566 ยังโชคดีที่อินเดีย หยุดส่งออก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น ประกอบกับอินโดนีเซียและอิรักนำเข้าเยอะขึ้น 1.6 ล้านตัน แต่ปี 2567 ไทยต้องเตรียมพร้อมกลับสู่ภาวะปกติแล้ว”

จับตาสต๊อกข้าวโลกปี’67

ขณะที่ปัจจัยสต๊อกข้าวโลกในปี 2567 กระทรวงเกษตรสหรัฐประมาณการที่ 167.4 ล้านตัน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งมีปริมาณสต๊อกข้าวสูงสุด 187.5 ล้านตัน ซึ่งสัดส่วนสต๊อกข้าวโลก 70% อยู่ที่อินเดีย และจีน หาก 2 ประเทศมีปัญหาล้วนมีผลกระทบต่อทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าปริมาณสต๊อกข้าวอินเดียในปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 37.63 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวนาปีของอินเดีย เฉลี่ยปีละ 100 ล้านตัน

“ในส่วนของจีนดูแล้วลำบาก เพราะจากที่ดูตัวเลขการนำเข้าปกติปีละ 5-6 ล้านตัน แต่ ปี’66 นำเข้าเพียง 2 ล้านตัน และถือไปถึงปีหน้า ที่นำเข้าจะชะลอเพราะสต๊อกข้าวจีนเยอะ และผลผลิตภายในประเทศดีจึงซื้อน้อยลงและในช่วงหลังหันไปซื้อเวียดนามมากขึ้น”

ส่องทิศทางตลาดข้าวปี’67

ในส่วนของตลาดส่งออกข้าวที่คึกคัก ในปี 2566 มาจาก “อินโดนีเซีย” ซึ่งมีการนำเข้า 1 ล้านตัน โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย อินเดียเปิดประมูลนำเข้าข้าว 6 แสนตัน โดยมีเอกชนไทยชนะประมูล 4 แสนตัน เมื่อเดือนธันวาคม 2566

ปัจจัยหลักที่อินโดนีเซียต้องเร่งตุนสต๊อกข้าวเป็นผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในปี 2567 จึงต้องดูแลราคาสินค้าในประเทศ เร่งสต๊อกข้าวเพื่อบริหารจัดการราคาสินค้าภายใน แต่หากการเลือกตั้งผ่านพ้นไป แนวโน้มการนำเข้าจะชะลอตัวลง

“ปี’66 ไทยส่งออก 8 ล้านตัน ถ้าปี’67 อินโดนีเซียยังซื้ออย่างปี’66 เป็นสัญญาณที่ดี ส่วนออร์เดอร์ 2 ล้านตัน ที่อินโดฯซื้อจากท่านนายกรัฐมนตรีต้องรอประเมินสถานการณ์หลังปีใหม่คงมีการพูดคุยกัน” นายศุภชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดอิรักที่ซื้ออย่างต่อเนื่อง บริษัท ธนสรรฯ ยังมีชิปเมนต์ที่ต้องส่งต้นปี 2567 แต่คาดการณ์ว่าฐานราคาปี’67 จะปรับขึ้น ปกติอิรักซื้ออเมริกากับไทย ตอนนี้ทางอเมริกาใต้แล้ง จึงทำให้ต้องหันมากลายเป็นผู้นำเข้าข้าวไทยแทน

ขณะที่ตลาดฟิลิปปินส์ ซึ่งนำเข้าจากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 4 ล้านตันนั้น มีเวียดนามเข้าไปครองส่วนแบ่งตลาด ถึง 89.2% ไทย 4.9% เมียนมา 4.2% ปากีสถาน 1.0% ล่าสุดช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ฟิลิปปินส์นำเข้า 2.9 ล้านตัน แบ่งเป็น เวียดนาม 2.6 ล้านตัน ไทย 1.4 แสนตัน เมียนมา 1.2 แสนตัน ปากีสถาน 3 หมื่นตัน

“แม้ไทยและฟิลิปปินส์จะมีความใกล้ชิดกัน แต่ก็ยังไม่ซื้อข้าวไทย กลับไปซื้อข้าวเวียดนาม เพราะผลิตข้าวพื้นนุ่ม หวาน หอม อร่อย ส่วนข้าวไทยไม่มี หวังว่าประเทศคู่แข่งจะมีปัญหา ราคาข้าวเวียดนามแพงเกินไป เช่น ห่างกันเป็น 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน โอกาสที่จะนำเข้าข้าวไทยก็ได้ แม้ข้าวจะไม่หอมก็ตาม” นายวันนิวัติกล่าว

กราฟฟืก สต็อกข้าว

เวียดนาม 8 ล้านตันครั้งแรก

นายชูเกียรติตั้งข้อสังเกตว่า ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่เวียดนาม ส่งออกได้ 8 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ใกล้เคียงกับไทย ทั้งที่เวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวเพียง 36 ล้านไร่ น้อยกว่าไทยที่มีพื้นที่ 70 ล้านไร่ ถึงครึ่งหนึ่ง

แต่ด้วยเหตุผลที่เวียดนามสามารถพัฒนาผลผลิตต่อไร่ได้สูงถึง 1,000 กก./ไร่ จึงทำให้ปริมาณข้าวเปลือกที่ได้สูงถึง 44-45 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ไทยทำได้เพียง 32-33 ล้านตันข้าวเปลือก

อย่างไรก็ตาม เมื่อสีแปรออกเป็นข้าวสารจะมีเพียง 6.0-6.5 ล้านตันเหลือส่งออก แต่ล่าสุดพบว่า เวียดนามผันตัวไปนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชา 4 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสาร 2.5 ล้านตัน นำมาส่งออก จากปกติซื้อแค่ 2 ล้านตัน และยังนำเข้าข้าวนึ่งจากอินเดียที่มีราคาถูก มาทำอาหารสัตว์ แทนปลายข้าวซึ่งเหลือเก็บไว้ส่งออกปีหนึ่งหลายแสนตัน จากที่มีเพียงข้าวพื้นนุ่มเป็นหลัก

“ปลายปี 2566 เวียดนามไม่มีข้าว จนกว่าผลผลิตฤดูใหม่จะออกมา ก.พ. 67 ทำให้ราคาเวียดนามแพงกว่าไทย 20-30 เหรียญสหรัฐต่อตันจากปกติที่จะถูกกว่าไทย”

เร่งพัฒนาพันธุ์ใหม่

นายวันนิวัติระบุว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวไทย 8 ล้านตันนั้น แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย 1-1.5 ล้านตัน ไม่ได้มีการเจริญเติบโตที่ชัดเจน ถ้าเรายังลดต้นทุนการผลิตไม่ได้ และส่วนใหญ่ถูกดึงส่วนแบ่งตลาด เวียดนามรวมไปถึงกัมพูชาเองก็เริ่มส่งออกตั้งแต่ปี 2556 จากที่ไม่เคยส่งออกเลย

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องไม่มองข้าม นายวันนิวัติที่มองว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาระบบชลประทาน อ่างเก็บน้ำ ให้ผลผลิตดีขึ้น

นายศุภชัยกล่าวว่า ไทยต้องเร่งแก้ไขกฎหมาย เพื่อลดระยะเวลาในการรับรองสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่มีผลผลิตต่อไร่สูง จากเดิมใช้เวลาวิจัยและรับรองพันธุ์นาน 3-4 ปี จึงจะออกได้ ควรลดลงให้เหลือ 3-4 เดือน เพราะตอนนี้เวียดนามมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ออกมาจำนวนมาก ผลผลิตต่อไร่ปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 2 ตันต่อไร่แล้ว

ขณะที่ไทยยังไม่มีพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง โจทย์เราต้องการพันธุ์ที่ได้ 1.5 ตันต่อไร่ขึ้นไป ต้านทานโรค ขายได้ราคา และมีตลาดรองรับ

“ตอนนี้ราคาตลาดดี ส่งผลให้ชาวนากล้าลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่ต้องไปแข่งกับเวียดนาม เพราะในแง่การทำตลาดไม่มีปัญหาผู้ส่งออกไทย แต่ปัญหาคือไม่มีพันธุ์จะไปสู้ราคาได้ในระยะยาว ๆ สมมุติถ้าขายข้าวในราคาเท่ากัน 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่เวียดนามผลิตได้ 2 ตันต่อไร่ ไทยเพิ่งได้ 1 ตัน เราก็ขายสู้เขาไม่ได้แล้ว คู่แข่งอยู่ได้สบาย แต่เราอยู่ไม่ได้ เพราะหารออกมาผลผลิตเขา 2 ตัน แต่ของเราค่าปุ๋ยค่ายาก็หมด กำไรมาถึงชาวนาน้อย”

หากไทยสามารถพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 1.5-1.8 ตันต่อไร่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่จ่ายช่วยไร่ละพันกับชาวนา ชาวนาก็อยู่ได้ เพราะเขาจะได้รายได้มากขึ้น 2,000-3,000 บาทต่อไรและยังช่วยให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวไม่ต้องใช้งบประมาณสูงอย่างนี้ด้วย