จับตาตลาดน้ำมันปีมังกร ปีแห่งการ “ควบรวม 3 คู่พลังงาน”

คู่พลังงาน

ในปี 2566 นับได้ว่าเป็นปีแห่งการควบรวมธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ไทย-เทศ จากสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ทำให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ต้องสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อรักษาการเติบโต และสร้างโอกาสในการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว ด้วยการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ

บางจาก-เอสโซ่ทิ้งทวนปี’66

โดยคู่ที่ปิดดีลสำเร็จก่อนสิ้นปี 2566 คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอสโซ่ จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. สำเร็จด้วยมูลค่าดีล 55,000 ล้านบาท

ได้สินทรัพย์โรงกลั่นเอสโซ่ที่ศรีราชา ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงกลั่นบางจากศรีราชา 155,000 บาร์เรลต่อวัน มาช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นให้กับโรงกลั่นบางจากพระโขนงเดิม รวมเป็น 278,000 บาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกน้ำมันอยู่ที่ 28% บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 30% ให้ได้ภายในปี 2573 มีแผนจะเปลี่ยน BSRC หรือเอสโซ่เดิมเป็นบางจากให้เสร็จกลางปี 2567 ครบทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีสถานี 2,221 สถานีบริการ และทยอยเพิ่มเป็น 2,500 สถานีในปี 2573 ส่วนธุรกิจ Nonoil ได้มีการขยายร้านอินทนิลเพิ่มขึ้นปีละ 140 สาขา รวมเป็น 2,000 สาขาในปี 2573

ซึ่งการควบรวมนี้จะช่วยให้รายได้บางจากปี 2567 ขยับเป็น 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ปิดไป 3.6 หมื่นล้านบาท และสูงสุดในรอบ 40 ปีนับจากเปิดดำเนินธุรกิจมา

“ไซโนเปค-ซัสโก้” รักข้ามชาติ

ไม่นับรวมคู่แต่งงานใหม่อย่าง “บริษัท ไซโนเปค ซัสโก้ จำกัด” บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO ถือหุ้น 51% กับบริษัท ไซโนเปค (ฮ่องกง) 49% ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SINOPEC Group ยักษ์พลังงานจีน เปิดตัวสถานีบริการน้ำมันสัญชาติไทย-จีน สาขาแรก ถนนรัชดาภิเษก ภายใต้แบรนด์ “SINOPEC SUSCO” อย่างเป็นทางการเมื่อ 25 ตุลาคม 2566 พร้อมปักหมุดอีก 5 สาขา ในปีเดียวกัน

สำหรับดีลคู่นี้เริ่มาตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ SUSCO เห็นชอบให้จำหน่ายหุ้นของ บริษัท ซัสโก้ ดีลเลอร์ส จำกัด หรือ SDA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสัดส่วน 49% ให้แก่ ไซโนเปค (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติฮ่องกง

ประกอบด้วย หุ้นสามัญจำนวน 45,863,430 หุ้น คิดเป็น 48% และหุ้นบุริมสิทธิจำนวน 955,488 หุ้น คิดเป็น 1% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด รวมเป็นเงินจากการจำหน่ายทั้งสิ้น 34 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,100-1,200 ล้านบาท

ทั้งยังได้ปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัท โดย SDA เพิ่มทุนจดทะเบียนโดยการออกหุ้นบุริมสิทธิ, ให้บริษัทรับซื้อสินทรัพย์ของสถานีบริการน้ำมัน 14 สถานี ซึ่งดำเนินการภายใต้ SDA และให้ SDA เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 10 แปลง เป็นระยะเวลา 20 ปี คิดเป็นค่าเช่ารวมประมาณ 278.40 ล้านบาท

“SPRC-คาลเท็กซ์” รับปีมังกร

และคู่ล่าสุดที่เพิ่งปิดดีลสำเร็จรับศักราชปีมังกรคือ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ซึ่ง นายโรเบิร์ต โดบริค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPRC เพิ่งประกาศเสร็จสิ้นการทำธุรกรรมกับ Chevron Asia Pacific Holdings Limited (CAPHL) ในการเข้าซื้อธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” มูลค่า 5,500 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสริมห่วงโซ่คุณค่าให้กับ SPRC ในฐานะโรงกลั่นและทำตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยอย่างครบวงจร

โรเบิร์ต โดบริค
โรเบิร์ต โดบริค

สำหรับ SPRC ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สำคัญในประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมคุณภาพสูง และประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันชั้นนำในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเป็นแบบที่มีหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน และมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบสูงถึง 175,000 บาร์เรลต่อวัน ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเกรดพิเศษและธรรมดา น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา

ส่วนบริษัท สตาร์ ฟูเอลส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Star Fuels Marketing Limited หรือ SFL) เป็นบริษัทในเครือบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง

ภายใต้ชื่อคาลเท็กซ์ในประเทศไทย SFL เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเชฟรอน และได้ซื้อธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2491

หลังจากปิดดีล SPRC ไม่เพียงจะบริหารโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบสูงถึง 175,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ยังจะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ คาลเท็กซ์ เทครอน ยังคงจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพภายใต้แบรนด์ คาลเท็กซ์ และเทครอน

ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจและอยู่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 75 ปี ผ่านสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ประมาณ 450 แห่งทั่วประเทศ และยังได้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ค้าส่งมากกว่า 200 ราย

ในภาคส่วนธุรกิจการพาณิชย์ อุตสาหกรรม ยานยนต์ และพาณิชย์นาวี บริษัทจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหลากหลายชนิด อาทิ น้ำมันดีเซลเกรดธรรมดาและเกรดพรีเมี่ยม น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และน้ำมันอากาศยาน

และการเข้าซื้อธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงในครั้งนี้ ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อันได้แก่ สัดส่วนการถือครองหุ้น 9.91% ในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 2.51% ในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) การลงทุนในบริษัทเอกชนที่ถือครองที่ดินแปลงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี

สำหรับประเทศไทย การควบรวมกิจการของทั้ง 3 คู่ครั้งนี้เป็นการ “ลดจำนวนผู้เล่น” ในตลาด จากเดิมมี 7-8 ราย เหลือ 5-6 ราย เกิดภาพการเปลี่ยนมือผู้ถือครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันบ้านเรา แม้ว่าภาพอันดับจะไม่เปลี่ยน เบอร์ 1 ยังเป็น ปตท. แต่เบอร์รองลงมาจะไล่ตามติดชนิดหายใจรดต้นคอ ทั้งบางจากบวกเอสโซ่ พีทีจี เชลล์ คาลเท็กซ์ และน้องเล็กอย่าง ไซโนเปค ซัสโก้ ซึ่งท้ายสุดต้องมาดูว่าหลังจากการลดจำนวนผู้เล่นในตลาดแล้วจะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดน้ำมันและผู้ใช้บริการมากน้อยเพียงใด