ค่าไฟ 3.99 บาท พ่นพิษ กฟผ. แบกหนี้ใหม่อีก 1 หมื่นล้าน

หนี้ กฟผ. แตะ 1.2 แสนล้าน หลังแบกค่าไฟ 3.99 บาท ในงวด ก.ย.-ธ.ค. ปี 2566 ชี้แนวโน้มต้นทุนค่าไฟเฉลี่ยอีก 2 งวด 4.20-4.25 บาท

วันที่ 16 มกราคม 2567 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหมื่นกว่าล้านบาท ส่งผลให้ภาระต้นทุนของ กฟผ.จากเดิมที่ 95,000 ล้านบาท ขึ้นไปแตะ 1.1-1.2 แสนล้านบาท

“ส่วนตัวมองว่า งวดมกราคมถึงเมษายน หากราคาก๊าซธรรมชาติยังระดับราคาที่ 10-11 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูอย่างนี้ต่อไปจนหมดงวด ประกอบกับปริมาณก๊าซธรรมชาติจากพม่าไม่ลดลง รวมถึง ปตท.สผ.สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเอราวัณได้เต็มกำลัง ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์เมตรในเดือนเมษายนนี้ ก็จะสามารถคืนเงินบางส่วนให้กับ กฟผ.ได้ รวมถึงจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะทำให้แนวโน้มต้นทุนค่าไฟอีก 2 งวดที่เหลือของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.20-4.25 บาทไม่รวมหนี้ กฟผ.”

สำหรับข้อเรียกร้องของเอกชนที่ให้ค่าไฟอยู่ 3.60 บาทนั้น นายคมกฤชกล่าวว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากว่าได้พยายามรื้อและลดทุกช่องทางที่สามารถลดได้แล้วในโครงสร้างค่าไฟปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ค่าไฟแพงไม่ได้เป็นผลมาจากโครงสร้างเพียงอย่างเดียว เพราะยังภาระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งค่าสายส่ง ค่าไฟฟ้าสาธารณะ ที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ส่วนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างนายกฯ ทั้ง 2 ประเทศนั้น นายคมกฤชกล่าวว่าพื้นที่ตรงนั้นถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะใกล้กับอ่าวเอราวัณ รวมถึงก็มีเอกชนหลายเจ้าเคยสำรวจและศึกษามาก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ดังนั้น หากทั้งสองประเทศสามารถหาข้อสรุปได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาลดค่าไฟลงได้