เปิดเหตุผล ปตท. ขายโรงงาน-ศูนย์วิจัยแบตเตอรี่ แลกหุ้นบุริมสิทธิ 24M

เปิดเหตุผล ปตท. ขายโรงงาน-ศูนย์วิจัยแบตเตอรี่

อนาคตธุรกิจแบตเตอรี่ ปตท. หลัง นูออโว พลัส บริษัทลูก ปตท.-GPSC ขายหุ้นโรงงานหน่วยกักเก็บพลังงาน กำลังการผลิต 30 MWh ต่อปี อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ “R&D Center” เครื่องจักร และสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง แลกหุ้นบุริมสิทธิของ 24M มูลค่า 51.08 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อนาคตยังคงได้ร่วมงานวิจัย-ได้ผลตอบแทนการลงทุน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องแจ้งการลงนามในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ของบริษัทย่อย

สาระสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 บริษัท นูออโว พลัส จํากัด หรือ Nuovo Plus บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 51 และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) ถือหุ้นร้อยละ 49 ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ (Business Transfer Agreement) กับกลุ่มบริษัท 24M Technologies, Inc. หรือ 24M และบริษัท 24เอ็ม เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดำเนินการจำหน่ายสินทรัพย์

ได้แก่ โรงงานหน่วยกักเก็บพลังงาน กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ (R&D Center) เครื่องจักร และสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มูลค่า 51.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ บริษัท 24เอ็ม เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อแลกกับการเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิของ 24M ในวงเงินเท่ากัน โดยคาดว่าการดำเนินการธุรกรรมดังกล่าวจะแล้วเสร็จ ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567

เปิดเหตุผลขายสินทรัพย์แลกหุ้น

โดยในรายงานระบุว่า ธุรกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยังคงกลยุทธ์ในการสนับสนุนธุรกิจแบตเตอรี่ของบริษัท Nuovo Plus ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ของกลุ่ม ปตท.

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้า ปตท. ส่งบริษัทลูก Nuovo Plus ผนึก พันธมิตรรุกตลาดแบตเตอรี่อีวี เป็นผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบาย 30@30 ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หัวจักรขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานของประเทศ กำลังขับเคลื่อนธุรกิจใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานอนาคต จึงมีการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งระบบ

แต่แล้วอยู่ ๆ ก็มีการขายสินทรัพย์เพื่อแลกกับหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งเป็นหุ้นที่มีลักษณะกึ่งเจ้าของกึ่งเจ้าหนี้ของบริษัท กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิได้สิทธิในการได้รับผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน อาทิ เงินปันผลในอัตราที่กำหนดไว้แน่นอน มีสิทธิได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญและมีสิทธิในสินทรัพย์ของบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ (การจะมีบุริมสิทธิใด ๆ ต้องกำหนดระบุไว้บนหุ้นบุริมสิทธิ)

แต่โดยทั่วไปผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะไม่ได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แม้จะได้สิทธิในการเรียกร้องในบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

บุรณิน รัตนสมบัติ
บุรณิน รัตนสมบัติ

 

อนาคตร่วมทีมวิจัย

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า การขายสินทรัพย์เพื่อแลกกับหุ้นบุริมสิทธิ เพื่อทำให้โรงงานได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะ 24M จะใช้ศูนย์นี้ในการทดสอบและทดลอง prototype เทคโนโลยีของเขาก่อน ที่จะพัฒนาจนสามารถทำการตลาดเชิงพาณิชย์ได้ (Commercial Scale) ซึ่งถ้าเขาทำสำเร็จและมีสินค้าที่หลากหลายขึ้น ทั้ง Nuovo+ และ GPSC ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยในฐานะผู้ถือหุ้น

สำหรับการดำเนินงานภายหลังจากการขายศูนย์วิจัย ในแง่ R&D เราเข้าไปเรียนรู้ได้ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและเป็นผู้ถือหุ้น และส่วนหนึ่งมีน้อง ๆ วิศวกรและ Operator คนไทยร่วมทำงาน โดยในอนาคตถ้าขึ้นไปถึง Commercial Scale ในการผลิต Cell Battery ค่อยตัดสินใจลงทุนอีกครั้งหนึ่ง

แต่การวิจัยทั้งหมดเป็นของ 24M ซึ่งจะทำให้เขาคล่องตัวขึ้น ไม่ต้องลงมือสร้างศูนย์ใหม่

ส่วนทีมงานวิจัยนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอเขาวางแผนก่อน แต่หลัก ๆ ผสมผสานทีมกัน

อนาคตอีก 2 โรงงานแบตเตอรี่

นอกเหนือจากการตั้งโรงงาน G Cell โดยใช้เทคโนโลยีของ 24M จากจีนที่จะมาตั้งเป็นโรงงานต้นแบบที่ระยองแล้ว ยังมีการลงทุนด้านแบตเตอรี่อีก 2 โรงงาน คือ

บริษัทแรก นูออโว พลัส ลงทุนถือหุ้น 51% ร่วมกับบริษัท Gotion Singapore Ple.,Ltd (บริษัทจีน) ถือหุ้น 49% ตั้งบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) นำเข้าวัตถุดิบ เซลล์แบตเตอรี่จากจีนเข้ามาประกอบเป็นแบตเตอรี่ แบบโมดูลแพ็ก ที่โรงงาน จ.ระยอง บนพื้นที่ 20 ไร่ มีกำลังการผลิตเฟสแรก 1 จิกะวัตต์ เริ่มในไตรมาส 4 และทยอยเพิ่มสูงสุด 4 จิกะวัตต์

และ ปตท.ได้มีการร่วมทุน โดย อรุณพลัส กับบริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd. หรือ CATL ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่แบบ Cell to Pack อีกแห่งหนึ่ง

สำหรับโรงงานต้นแบบ ที่ร่วมทุนกับ Gotion ที่ จ.ระยอง จะเริ่มผลิตในไตรมาส 4 นี้ โดย Gotion มีกลุ่มลูกค้าอีวีจากจีนอยู่แล้ว และ ปตท.ได้เจรจากับลูกค้าอีวีจีนเพื่อส่งแบตเตอรี่อีวีลอตแรก โดยจะซัพพลายให้ประมาณ 1 กิกะวัตต์ ใช้กับรถอีวี 15,000-20,000 คัน จะทยอยส่งมอบในช่วง 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม เขาสรุปว่าส่วนโรงงานแบตเตอรี่ อีก 2 แห่ง ที่ลงทุนร่วมกับ CATL กับ Gotion เป็น Packaging ยังไม่ได้ทำ Cell จึงจะมีกระบวนการที่ไม่เหมือนกับ 24M

ซึ่งข้อมูลเดิม 24M เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรก ทำหน้าที่ผลิตระบบกักเก็บพลังงาน ESS จากลิเทียมไอออน ระบบเซมิโซลิตแห่งแรกในอาเซียน มีกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ต่อปี นอกจากนี้ 24M ยังจับมือกับ AXXIVA ผู้ผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์เชอรี่ จากจีน และเคียวเซล่า จากญี่ปุ่น เป็นโครงการที่ ปตท.หวังว่าโรงงานนี้จะช่วยให้วิศวกรไทยมีประสบการณ์มากขึ้นนั่นเอง