เปรียบเทียบค่าไฟอาเซียน ไทยแพงอันดับ 4 แต่ไฟไม่ดับ

หลายครั้งที่ประเด็น “อัตราค่าไฟ” ได้กลายเป็นต้นเหตุของข้อถกเถียงที่ว่าไทยแข่งขันสู้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนไม่ได้ เพราะ “ค่าไฟแพง” ทั้งที่กำลังผลิตไฟฟ้าล้นประเทศ แต่เอกชนไทยต้องจ่ายถึง 4-5 บาท/หน่วย ขณะที่เวียดนามจ่าย 2 บาทกว่านักลงทุนทนไม่ไหวกำลังย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไป

แต่เมื่อเหตุการณ์ไฟดับที่ประเทศเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องย้อนตั้งคำถามว่า ความมั่นคงทางพลังงานต้องมาก่อนค่าไฟหรือไม่ เพราะถึงหากค่าไฟจะราคาถูกเพียงใด แต่ถ้าขาดไฟใช้ก็ไม่มีประโยชน์

ส่องต้นทุนค่าไฟของอาเซียน

ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้า (Energy Transition) แต่ละประเทศต้องวางแผนการผลิตโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ 5-6 เรื่อง คือ ทรัพยากรที่แต่ละประเทศมี ระบบมีความมั่นคงเพียงใด ราคา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การยอมรับของสังคม ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ทำให้แต่ละประเทศ “มิกซ์” หรือมีส่วนผสมของการผลิตไฟฟ้าจาก “วัตถุดิบ” ที่ต่างกัน และทำให้ราคาแต่ละประเทศต่างกัน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการด้านพลังงาน จะมีหัวใจ 3 เรื่อง คือ 1.ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงอย่างเหมาะสม 2.การผลิตไฟฟ้าต้องมีความมั่นคงไม่มีปัญหาไฟตกไฟดับ และ 3.การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม

ไล่เรียงจากประเทศในอาเซียนที่มีค่าไฟสูงสุดและแพงกว่าไทย 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ สูงสุดในอาเซียน 7.88 บาทต่อหน่วย เพราะไม่มีทรัพยากร จึงต้องใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า ต้นทุนการนำเข้าสูง ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าสูง

ขณะที่ฟิลิปปินส์ใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นหลัก 58% ผสมกับน้ำมันและอื่น ๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 6.03 บาท และกัมพูชา ผลิตจากน้ำสัดส่วนสูงสุด 36% และมีการผลิตจากวัตถุดิบอื่น ๆ อีก 33% รวมเฉลี่ยค่าไฟอยู่ที่ 5.12 บาท

ส่วนกลุ่มประเทศที่ค่าไฟถูกกว่าไทย คือ มาเลเซีย 3.13 บาท ซึ่งการผลิตไฟฟ้าถ่านหิน 51% เพราะเป็นแหล่งถ่านหิน และยังมีผลิตจากน้ำและจากก๊าซ และมีการสนับสนุนค่าไฟไปที่ผู้ใช้ไฟโดยตรง ขณะที่เวียดนาม ราคา 2.82 บาท เพราะวัตถุดิบหลักมาจากถ่านหิน 39% พลังงานหมุนเวียนคือ พลังงานน้ำ 36% แต่การผลิตยังไม่เสถียร

ขณะที่อินโดนีเซีย ราคา 2.62 บาท จากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 62% เมียนมา 2.91 บาท จากการผลิตไฟฟ้าก๊าซ 57%

ส่วนบรูไนผลิตจากก๊าซ 100% เพราะเป็นแหล่งก๊าซ จึงทำให้มีค่าไฟอยู่ที่ 1.57 บาท และสุดท้ายคือ สปป.ลาว ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากน้ำมากถึง 90% ทำให้มีค่าไฟฟ้าถูกมากที่สุดในอาเซียนเพียง 1.44 บาท

คมกฤช ตันตระวาณิชย์

ไทยต้องเลือกอนาคตพลังงาน

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการใช้ไฟฟ้าพีกอยู่ที่ 34,000 เมกะวัตต์ (MW) ถือว่าใหญ่มากเทียบกับในอาเซียน ไทยจำเป็นต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันไฟฟ้าเป็นสินค้าจำเป็นที่ต้องมีสแตนด์บายตลอดเวลา เปิดแล้วต้องติดตลอดเวลา

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันมีทั้งหมด 22,108.640 GWH จากทั้งหมดของประเทศ 211,745 GWH คิดเป็น 10% หรือเทียบได้กับ 7,343 เมกะวัตต์ (MW) โดย 3 อันดับแรกมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ สัดส่วน 21.65% กำลังผลิต 2,917 MW รองลงมาคือ ชีวมวล (ไบโอแมส) 2,077 MW และ 3.พลังงานลม 1,502 MW

“ไทยจัดอยู่ในอันดับกลาง ๆ ในอาเซียน ประมาณอันดับ 4 ค่าไฟปี 2565 เฉลี่ยที่ 4.14% ซึ่งหลัก ๆ ไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซถึง 53% เรามีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แต่แม้ว่าไทยจะมีอัตราค่าไฟที่สูงกว่าเวียดนามและ สปป.ลาว แต่หากเทียบอัตราไฟตกดับของไทยยังมีอัตราที่ต่ำกว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของเวียดนามสูงเกินไปกว่า 50% ซึ่งขาดเสถียรภาพ จึงต้องมีปรับเปลี่ยน”

ค่าไฟ อาเซียน

มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายคมกฤชให้มุมมองว่า ไทยจำเป็นต้องวางอนาคต เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ประชากรโลกให้ความสำคัญ

จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ประเทศไทยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และเข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065

ขณะนี้ในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรปเริ่มมีมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ อย่าง CBAM เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดลดโลกร้อนตามเป้าหมาย

นโยบายด้านพลังงานก็ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการเร่งเครื่องการใช้พลังงานที่สะดวกในราคาที่เหมาะสม เป็นไปตามกติกาสากล คำถามคือ จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนประเภทใด และเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งเป็นความท้าทายในระดับนโยบาย

หากเปรียบเทียบทางเทคนิคแล้ว แน่นอนว่า ขณะนี้ไทยได้เปรียบเวียดนาม เพราะการมีปริมาณสำรองไฟฟ้ามากทำให้สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่เสี่ยงไฟดับ ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วน RE 50% แต่สัดส่วนไฟฟ้าสำรองที่จะมาแบ็กอัพน้อย ซึ่งการจะหวนไปเพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อจะดึงไฟขึ้นมาใช้ในช่วงที่การผลิตไฟฟ้า RE ยังไม่เสถียรนั้นต้องใช้เวลา

ดังนั้น บทสรุปการวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว (Energy Transition) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ “ไทยต้องตัดสินใจเลือก” ว่าจะไปทิศทางใด โดยจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น หลายประเทศในยุโรปเริ่มพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า หรือจะเลือกการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่รวดเร็ว เป็นต้น

หากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ แต่หากช้าไม่แน่ว่าเทคโนโลยีในวันนี้ อาจตกยุคเสียแล้วในวันข้างหน้า