ภูมิธรรม ยืนยันเดินหน้าจีทูจีข้าวอินโดนีเซีย 1 ล้านตัน

ข้าว

ภูมิธรรม ยืนยันเดินหน้าข้าวจีทูจี อินโดนีเซีย 1 ล้านตัน หลังนายกฯเศรษฐา เจรจากับประธานาธิบดีอินโดนีเซียไปแล้ว สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ เร่งเจรจาให้ได้ข้อสรุป คาดเห็นภาพชัดเจนมีนาคม 2567 นี้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของอินโดนีเซีย ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการพูดคุยกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อปลายปี 2566 ปริมาณ 2 ล้านตัน แบ่งเป็นการขายแบบจีทูจี 1 ล้านตัน และภาคเอกชน 1 ล้านตัน สำหรับเอกชนให้ดำเนินการได้เลย แต่กรณีข้าวจีทูจีได้เร่งรัดกรมการค้าต่างประเทศให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

แม้ผู้ส่งออกข้าวและภาคเอกชน มองว่าการเจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี โอกาสจะเกิดขึ้นยาก แต่ผมได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศในการเดินหน้าและติดตามเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยเชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเดือนมีนาคม 2567 นี้ ก่อนที่ผลผลิตข้าวของไทยจะออกสู่ตลาด

“ผมตั้งใจที่จะเดินหน้าให้ได้ และไม่ยอมแพ้จะทำให้จบ ถ้าระดับผู้นำมีการพูดคุยแล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และการจะเดินหน้าต่อก็ขึ้นอยู่กับขบวนการ ซึ่งก็อาจจะมีข้อจำกัดบ้าง แต่เราก็ต้องจัดการให้ได้”

ทั้งนี้ เห็นว่าอินโดนีเซียก็มีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตข้าวที่มากพอ พร้อมที่จะส่งออก จากนี้ก็ต้องเดินหน้าขบวนการต่าง ๆ ให้ได้ และก็ขอย้ำกับผู้ส่งออกข้าว ภาคเอกชน ต้องสร้างกำลังใจ เพราะเราตั้งใจที่จะทำให้ได้

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า แม้ว่าการซื้อขายข้าวจะถูกพิจารณาเรื่องของราคา แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ผู้ซื้อข้าว ตัดสินใจซื้อข้าวไทย แม้ราคาข้าวไทยจะสู้ไม่ได้แต่เรื่องของคุณภาพนั้นไม่เป็นรองใคร อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความคิดที่จะหยุดการเจรจาซื้อขายข้าวจีทูจี และยังเดินหน้าทำงานต่อไป

สำหรับการดูแลราคาสินค้าเกษตร ผมที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 รัฐบาลนี้เริ่มต้นด้วยการประกาศเจตนารมณ์ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้พี่น้องประชาชน ได้มีการใช้มาตรการลดราคา ตรึงราคาสินค้าที่เป็นมาตรการชั่วคราว และศึกษาโครงสร้างราคาเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว พร้อมวางแผนแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรต่อเนื่อง

การผลักดันดูแลสินค้าเกษตรที่เห็นชัดคือ ราคาข้าวหอมมะลิ/ข้าวเหนียว ราคาเพิ่มขึ้น 12% มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 49% ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้น 9% ยางพารา ยางแผ่นดิบ เพิ่มขึ้น 22% พืชหัว เช่น หอมแดง เพิ่มขึ้น 27% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้น 6%

“ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยความเข้าใจในสินค้าและความใส่ใจในปัญหา และความตั้งใจในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้วิธีคิดที่นอกกรอบ หากลไกมาพัฒนาสิ่งที่เป็นอยู่ ทำให้สามารถสำเร็จได้ ถ้าเรารู้จักคิดและรู้จักทำ”