โจทย์ใหญ่ 3 กระทรวงเศรษฐกิจ ปมค่าแรง-ราคาน้ำมัน-สินค้าจีน

3 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ-บิ๊กเอกชน ชำแหละโอกาส-ความท้าทายเศรษฐกิจไทย ปลัดแรงงานชี้ปมค่าแรงน่าห่วง จ่อออกสูตรค่าแรงใหม่ มิ.ย.นี้ แยกรายพื้นที่-รายอุตสาหกรรม ชี้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 4 ล้านคน ส่งเงินกลับบ้านปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ปลัดพลังงานห่วงวิกฤตราคาน้ำมันมากกว่าค่าไฟ จ่อหารือคลังรับมือกองทุนน้ำมันฯติดลบแสนล้าน เล็งขยายเพดานดีเซลเป็น 32 บาท/ลิตร หลัง มี.ค.นี้ ปลัดพาณิชย์ดันส่งออกโต 1-2% รับลูกจัดการ “สินค้าจีน” ทะลัก กนอ.ชี้ตัวเลขต่างชาติยังเข้าลงทุนไทย กังวลนักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน”

สูตรใหม่ค่าแรงขั้นต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนา SK Speak Dinner Talk หัวข้อ “ไหวมั้ย… THAILAND” จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มี 3 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจอย่างกระทรวงพลังงาน-กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยบิ๊กธุรกิจจากหลากหลายวงการร่วมสะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานดำเนินงานในบทบาทส่งเสริมการจ้างแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ โดยสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในและนอกระบบรวม 4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา 75% กัมพูชา 17-18% และลาว 5%

ซึ่งเป็นผลจากแรงงานไทยจะไม่นิยมทำงานบางประเภท เช่น งานที่ใช้แรงงาน หรืองานที่มีความลำบาก เช่น แกะปลา แกะกุ้ง ทำให้ไทยต้องจ้างต่างด้าววันละ 400 บาท ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้คาดว่าจะส่งเงินกลับบ้านปีละ 1.2 ล้านล้านบาท

ความท้าทายประเด็นน่าห่วงเรื่องแรงงาน คือ เรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งแม้ว่าจะอยากปรับให้สูงขึ้น แต่ต้องได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องกันทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการปรับสูตรคำนวณค่าแรงงาน แต่ล่าสุดจะนำสูตรคำนวณค่าแรงงานใหม่มาใช้ ในช่วงกลางปี 2567 จะปรับขึ้นค่าแรงงานกันอีกครั้ง

“สูตรค่าแรงงานใหม่นี้ จะไม่ใช่แค่ลงในระดับจังหวัด แต่จะลงไปถึงอำเภอ และจะแยกในรายเซ็กเตอร์ด้วย โดยในจังหวัดเดียวกัน แรงงานในเซ็กเตอร์หนึ่งอาจจะสูงกว่าอีกเซ็กเตอร์หนึ่ง แต่อย่างน้อยค่าแรงต้อง 400 บาท ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สถานบันเทิง ก็จะได้รับการปรับตามที่ได้มีการประกาศนโยบายไว้”

ลุ้นปรับลด “ค่าไฟงวดใหม่”

ด้าน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ประกอบกับความสำเร็จในนโยบายส่งเสริมอีวี ทำให้มียอดจดทะเบียนอีวีพุ่ง 5 เท่า หรือประมาณ 1 แสนคัน สูงสุดในอาเซียน ซึ่งมีผลทำให้ค่าพีกไฟฟ้าปรับเปลี่ยนเวลาไปเป็นตอนกลางคืน

“ปีนี้ค่าไฟไม่น่าห่วงเท่ากับน้ำมัน ไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าน้ำมัน 80% ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้ามาดูแลราคาเพื่อตรึงให้ดีเซล 30 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ในตอนนี้กองทุนติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาทแล้ว แนวโน้มหากกองทุนรับไม่ไหว จะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางในการลดภาษีสรรพสามิตช่วย

หรือหาแนวทางนำเงินมาเติมให้กับกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งต้องหารือทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกรัฐมนตรี (ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ) ไม่ว่าจะอย่างไรจะต้องพยายามดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ลิตรละ 30 บาท ไปจนถึงหลังเดือนมีนาคม หากจำเป็นต้องปรับขึ้นไป 32 บาทต่อลิตร

ขณะที่ไทยนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าประมาณ 50% แต่ราคา LNG ในตลาดโลกลดลงจาก 13 เหรียญเหลือ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทั้งยังจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น จาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดต่อไป พ.ค.-ส.ค. 2567 มีโอกาสลดลง

โดยหลังจากนี้ต้องรอผลสรุปการจัดทำสมมุติฐานค่าไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สรุปออกมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องดูแลเรื่องการชำระหนี้คืนเพื่อลดภาระให้กับ กฟผ.ด้วย

ส่งออกโต 1-2% ไหวแต่เหนื่อย

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ว่าจะขยายตัว 1-2% ด้วยมูลค่า 284,561 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีก่อนที่ติดลบ 1% โดยสินค้าเกษตรและอาหารจะเป็นพระเอกหลักในการส่งออก คือมีอัตราการเติบโตที่สูง แม้ว่าสินค้ากลุ่มนี้จะไม่ใช่สินค้าท็อป 10 ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด

“ปัจจัยที่ทำให้มั่นใจว่าส่งออกจะเติบโต มีสัญญาณจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ยังไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงทางอาหารต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวส่งออกได้ 8.5 ล้านตัน จากเป้าหมาย 8 ล้านตัน ทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดเอลนีโญ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการส่งออก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในประเทศต่าง ๆ ถ้าขยายวงจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้น”

ส่วนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ มองว่า ไทยประสบปัญหาภาวะกำลังซื้อลดลง จากข้อมูลพบว่า คนไทยเฉลี่ยการจับจ่ายต่อบิลลดลงจากช่วงก่อนโควิด รากหญ้ามีปัญหา แต่ส่งออกดี แต่ประโยชน์ตกอยู่กับคนบางกลุ่ม ซึ่งก็ยอมรับว่ามีความต้องการมาตรการปั๊มเศรษฐกิจเข้ามาช่วย

“ปีนี้ถามว่าวิกฤตไหม ผมว่าเหนื่อย เราผ่านมาทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง น้ำท่วมปี 2554 ยังไงก็ไหว แต่อาจจะเหนื่อยมากขึ้นนิดหน่อย”

งัดมาตรการดูแลสินค้าจีน

นายกีรติกล่าวว่า สำหรับความกังวลเรื่องสินค้านำเข้าจากจีนที่จะทะลักเข้ามา ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีไทย และทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้านั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีสินค้าจากจีน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ซึ่งไทยมีการดูแลเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีอยู่แล้ว โดยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี) เพื่อดูแลอุตสาหกรรมภายในให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

กลุ่มที่ 2 สินค้าขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ที่ส่งผ่านมาช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งประเด็นนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อาจจะใช้วิธีลงไปตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยสินค้านำเข้า ว่ามีมาตรฐาน มอก.หรือมาตรฐาน อย.หรือไม่ เป็นต้น

“ขออย่าใช้ว่าไทยสกัดสินค้าจีนทะลัก ใช้มาตรการเข้ม เพราะการดูแลมาตรฐานการนำเข้าเป็นไปอย่างมีมาตรฐานเหมือนกันทุกประเทศ ไม่ใช่แค่จีน”

ธุรกิจเตือนรัฐบาลระวังรายจ่าย

ส่วนภาคเอกชน นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า หากให้นิยามคำว่าวิกฤตตามตัวอักษร คือ เศรษฐกิจไทยต้องติดลบ 2 ไตรมาส หรือต้องเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ยังมองว่าไม่เกิดวิกฤต แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น

โดยการพัฒนาจุดแข็งที่ไทยมี ทั้งภาคบริการ เกษตร อาหาร เพื่อให้สามารถสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Wellbeing Economy” เพราะประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งไล่ตามเทคโนโลยี อย่างรถอีวี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ

“วิกฤตอาจจะซ้อนวิกฤตอยู่ แต่เราต้องดูโอกาสให้ออก เอาจุดแข็งที่เรามีไปแมตช์กับโอกาสให้ได้ อย่ามุ่งแต่ไปตามกระแสที่ต้องดึงการลงทุนอีวี ตัวเลขที่แท้จริงกลับมาถึงคนไทยเท่าไร” นายศักดิ์ชัยกล่าว

หาก 2 ปีนี้รัฐบาลยังไม่ทำอะไร จีดีพีของไทยก็จะโตต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 2% อย่างนี้ไทยสูญเสียการเติบโตทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ขณะที่แรงงานไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัย ผลิตภาพก็ไม่เพิ่มหากเทียบกับเวียดนาม และที่สำคัญไทยมีการทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไม่มาก รวมถึงการพัฒนาระบบการศึกษาไทยยังน้อย งบฯประมาณของรัฐ ในส่วนของงบฯลงทุนก็ลดลง จากก่อนต้มยำกุ้งอยู่ที่ 41% ตอนนี้เหลือ 20-22%

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า รัฐบาลต้องระวังเรื่องรายจ่าย โดยเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) 17 ตลาด เศรษฐกิจไทยขณะนี้ต้องระวังตัวเลขหนี้ภาครัฐ ที่ขยับไปถึง 62.2% ของจีดีพี อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบประเทศอื่น และใกล้แตะเพดานที่กำหนดไว้ 70%

ห่วงญี่ปุ่นย้ายฐานปัญหาแรงงาน

ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากการพบและหารือกับนักลงทุนยังให้ความมั่นใจว่าจะเพิ่มการลงทุนในไทย ซึ่งการลงทุนในนิคม จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงจะเห็นเม็ดเงินที่เข้ามาอย่างชัดเจน

แต่ตอนนี้เราเห็นว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนจากตัวเลขการขายที่ดินในนิคมปี 2566 ที่ได้ 6,000 ไร่ สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2,500 ไร่ โดยนักลงทุนหลักที่ขยายเข้ามาคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งมีบริษัทแม่จากสหรัฐให้ย้ายมา เช่นเดียวกับนักลงทุนจีนก็ย้ายมาเช่นกัน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ เพราะคู่แข่งเวียดนามเกิดปัญหาไฟดับบ่อย ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่เรามีปริมาณไฟฟ้าสำรองจำนวนมาก แต่ในอนาคตจะต้องเพิ่มการพัฒนาพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อดึงการลงทุน เพราะนักลงทุนให้ความสนใจเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งจากการสำรวจของ JETRO เมื่อเดือนมกราคม 2567 พบว่า มีนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย 30-40% มีความคิดที่ต้องการจะย้ายออกจากประเทศไทยไปเวียดนามและอินโดนีเซียเช่นกัน จากข้อจำกัดเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงาน และความต้องการในประเทศ ซึ่งเวียดนามและอินโดนีเซียมีประชากรมาก จึงมีตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าไทย

อีเอชี้ไทยลุ้นบุญเก่าหมด

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงกับวิกฤต เพราะบุญเก่าเยอะ ตั้งแต่ในอดีตที่มีการส่งเสริมโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้เศรษฐกิจยังโตได้ 2-3% แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยมีลักษณะเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งเปรียบเหมือนได้กินเนื้อติดกระดูก และไทยก็ติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน

“ตอนนี้ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ไทยต้องจับโอกาสให้ได้ วันนี้เราอยู่ในระหว่างการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การปรับตัวรับเทรนด์โลกที่มุ่งสู่พัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งต้องเตรียมพร้อม เพราะต่อไปเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลายเป็นมาตรการทางการค้าที่พบเห็นทั่วไป ส่วนอุตสาหกรรมอีวี ผมมองว่าแนวโน้มอีก 5 ปี มีโอกาสจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ได้”

ไทยติดกับดักซอฟต์แวร์ต่างชาติ

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ซีอีโอ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับไอที มองว่าตอนนี้ไม่ไหว เพราะเราไม่มีศักยภาพที่จะหนีการถูกล็อกจากซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มาจากต่างชาติ ซึ่งยิ่งเราขายมากขึ้นเท่าไร คนที่รวยไม่ใช่เรา แต่เป็นคนที่อยู่ซิลิกอนวัลเลย์ โดยผู้ผลิตซอฟต์แวร์ซึ่งมีไลเซนส์เป็นเครื่องมือในการจับเสือมือเปล่า ทำให้สามารถปรับขึ้นราคาได้

เพราะอย่างไรบริษัท องค์กรภาครัฐต้องยอมแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ๆ ทุกคนพึ่งพาเทคโนโลยีคลาวด์ที่มีราคาสูงกว่าเครื่องเสียอีก ดังนั้น ทางแก้ไทยจำเป็นต้องอัพเกรดประเทศไทยใหม่ พยายามแสวงหาคนที่เก่งเรื่องนี้ และพัฒนาต่อยอด

“ตอนนี้ไอทีประเทศไทยก็เสพ (ของต่างชาติ) จนกลายเป็นยาพิษไปแล้ว ส่วนปัจจัยการเมืองและผลที่เกิดขึ้นในอนาคต ผมให้น้ำหนัก 80-90% ในการนำมาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นตามมากับเอกชน” นายศิริวัฒน์กล่าว

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุนในขณะนี้มีประเด็นที่พบว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วง 2 เดือนแรก อยู่ที่เฉลี่ย 30,000 ล้านบาทต่อวัน ต่ำกว่าปกติที่ระดับ 50,000 ล้านบาทต่อวัน

และพบว่าสัดส่วนนักลงทุนไทยลดลง จาก 50% เหลือ 30% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 55% ซึ่งอาจเป็นผลจากวิกฤตความเชื่อมั่นในการลงทุน หรือติดปัญหาการลงทุนเดิมค้างอยู่ ทำให้ขาดเงินลงทุน และปริมาณการซื้อขายที่ลดลงในตลาดทำให้ขาดแรงจูงใจในการเข้าซื้อ