“ภูมิธรรม” หนุนเอกชนผลิตบรรจุภัณฑ์ ฉลากอัจฉริยะ รับกติกาโลกใหม่

นายภูมิธรรม เวชยชัย

“ภูมิธรรม” เผยโลกเปลี่ยน ผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดตลาดมากขึ้น และยังมีกติกาใหม่ เน้นสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม แนะผู้ประกอบการ ผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ ต้องตอบโจทย์ และเน้นใช้นวัตกรรมฉลากอัจฉริยะมาช่วยเพิ่มการสื่อสารกับผู้บริโภค ด้านผู้ประกอบการชี้ต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการออกแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์มาตรฐานโลก

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล DTN Smart Labelling Contest 2023 พัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างชาญฉลาด ก้าวล้ำนำเทรนด์ ด้วยฉลากอัจฉริยะ แก่ผู้ชนะการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์และฉลากอัจฉริยะว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดความท้าทายค่อนข้างมาก

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม วิกฤตโรคอุบัติใหม่ ที่กระทบพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการค้าขาย ผู้ประกอบการทุกท่านต้องทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะใส่ใจหรือไม่ โลกก็เปลี่ยนแปลง และจะมากระทบกับท่าน ผู้บริโภคจะเป็นผู้กำหนดตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

“รัฐบาลตระหนักถึงความท้าทาย จึงมุ่งเน้นสร้างรายได้ ฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพทางการค้าอย่างยั่งยืน หาโอกาสและตลาดทางการค้าใหม่ให้กับสินค้าและบริการของไทย โดยฉลากอัจฉริยะ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้รู้ที่มาสินค้า คุณภาพสินค้า มีสตอรี่เล่าเรื่อง เป็นการสื่อสารเชิงลึกให้กับผู้บริโภค

บรรจุภัณฑ์ ฉลากอัจฉริยะ

ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มช่องทางการค้า สร้างแต้มต่อทางการค้าให้มากขึ้น สิ่งที่ควรคิดต่อ ไม่ใช่จบแค่วันที่มอบประกาศนียบัตรเท่านั้น ต้องต่อยอดผลงานที่เป็นประโยชน์ ประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ให้สังคมรับรู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การแข่งขันที่ดีมากขึ้น”

โครงการนี้ ดำเนินการโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีผู้สมัครเข้าร่วมจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งบริษัทเอกชน นักออกแบบอิสระ และนักศึกษารวม 73 ทีม โดยได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วม (bootcamp) 20 ทีม ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Mr.Good ของนายวรยศ สุขแช่ม และ น.ส.พรพิมล ตปนียะพงศ์ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Bugni รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม MorePround และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ทีม Smile Bugs และทีม Lalamoon ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมผลงานได้ที่ www.Smart-Labelling.com

เดินหน้าโครงการ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า โครงการ“พัฒนาบรรจุภัณฑ์…อย่างชาญฉลาด ก้าวล้ำนำเทรนด์…ด้วยฉลากอัจฉริยะ” Transforming Packaging through Smart Labelling Innovation ภายใต้โครงการ “การเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่อง การจัดทำฉลากอัจฉริยะ (Smart Labelling) ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยได้รับความรู้ความเข้าใจถึงแนวโน้มและทิศทางของผู้บริโภค ต่อการจัดทำฉลากอาหารและฉลากอัจฉริยะ ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป เพื่อให้ภาคเอกชน และผู้ประกอบการสามารถปรับตัวสอดรับกับกฎระเบียบ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล

รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การพัฒนาให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ฉลากและฉลากอัจฉริยะ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด โดยมุ่งหวังว่า จะนำไปสู่การยกระดับบรรจุภัณฑ์ของไทย

โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรรมฉลากอัจฉริยะมาช่วยตอบโจทย์ภาคธุรกิจและทิศทางการบริโภคของตลาดโลก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเพื่อให้สามารถรักษาศักยภาพทางการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่น และการยอมรับสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ

รัฐ-เอกชนร่วมบูรณาการ

นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตทั้งสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ในอนาคตไม่ใช่แข่งขันว่าทำอย่างไรให้ราคาถูกลง เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะการที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนต้องใส่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ อินโนเวชั่น ความใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม แล้วสินค้าต้องตอบโจทย์มาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะทางยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคาร์บอนเครดิต CBAM จะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน

ประเทศไทยต้องทำงานแบบบูรณาการภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ร่วมทำให้มีประสิทธิภาพของสินค้า ไทยสามารถที่จะส่งออกไปได้ และ Smart Labelling อนาคตหากจะเชื่อมโยงกัน และภาครัฐการันตี คุณภาพ มาตรฐาน คำว่า Smart Labelling จะสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือให้กับต่างประเทศ เพราะฉะนั้น การบูรณาการ ส่งผลต่อการแข่งขันสินค้าไทยในตลาด เพราะประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ หากสร้างมาตรฐานและคุณภาพจะเป็นแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในอนาคต

นายภูมิธรรม เวชยชัย

นายประสิทธิ์ คล่องงูเหลือม อุปนายกวิชาการ สมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะการสร้างฉลากอัจฉริยะในบรรจุภัณฑ์ โดยการออกแบบที่บ่งบอกถึงที่มาของสินค้า เชื่อมโยงชุมชน การพัฒนา การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ โดยเฉพาะการสแกน QR Code จะเป็นการช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ซื้อและผู้ประกอบการสามารถรู้ข้อมูลในสินค้านั้น ๆ รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและผู้นำเข้าในต่างประเทศ

นางมยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ ที่ปรึกษาสถาบันพลาสติก และสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ กล่าวว่า การผลิตสินค้ามองว่าจะต้องมีความร่วมมือกับนักออกแบบออกแบบบรรจุภัณฑ์ในการสร้างตราสินค้า รวมไปถึงรูปแบบ กราฟิก เพื่อให้ความเหมาะสมสร้างมาตรฐานของประเทศ และให้เกิดเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาและมีมาตรฐานในการออกแบบอย่างญี่ปุ่น อียู เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องการให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการระบุอายุของสินค้า เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อให้ความสนใจและใส่ใจ ดังนั้นการที่จะออกแบบฉลากใดจะต้องมีความชัดเจน

ดังนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ที่ออกแบบฉลากจะต้องให้ความสำคัญ รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เลือกวัสดุที่สามารถยืดอายุให้กับอาหารสด ซึ่งอยากให้ผู้ประกอบการให้ความใส่ใจในเรื่องนี้