ครม. เห็นชอบ แผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล 5 ปี ทุ่มงบ 1,230 ล้าน

รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี

ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ร่างแผนปฏิบัติการฯ 5 ปี และตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ใช้งบกว่า 1,230 ล้าน หวังทำให้เกิดการจ้างงาน 1 แสนคน เพิ่มจีดีพีภาคอุตสาหกรรม 1.2% ใน 5 ปี

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำ ร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อเป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ร่างแผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ดังนี้

1. หลักการและเหตุผล สถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล ในปี 2564 ตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และเอเชียใต้

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ และ 3,500 ร้าน ตามลำดับ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 (มีแนวโน้มลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน)

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งด้านสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ดังนั้นหากประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างบูรณาการและเป็นระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป

ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบกระจายอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ หน่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ครอบคลุม/ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่งผลต่อการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่อาจจะล่าช้า รวมถึงอายุการรับรองมีระยะสั้นและค่าใช้จ่ายสูงเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ

2. วิสัยทัศน์ – ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571

3. วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ รวมถึง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย

4. ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม อาหารฮาลาล แฟชั่นฮาลาล ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางฮาลาล โกโก้ฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง บริการและท่องเที่ยวฮาลาล

5. ตัวชี้วัด (ระยะ 5 ปี) GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571

6. มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย (Demand) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ

มาตรการที่ 2 การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Supply) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ และการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก

มาตรการที่ 3 การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (ศูนย์) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย

7. งบประมาณ – วงเงินจำนวน 1,230 ล้านบาท

8. ระยะเวลา 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2571)

การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงกระตุ้นการบริโภค การลงทุนและการส่งออกสินค้าของไทย เป้าหมายคือการได้เห็น GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ภายใน 5 ปี

การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี และการได้เห็นไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้เห็นภาพเหล่านี้อย่างจับต้องได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย

พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) จะเริ่มต้นอีกด้วย