อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จะรอดหรือไม่ถ้าต้องปรับตัว เมื่อ EV เข้ามาแทนที่

เปิด 3 ทางออกให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่มทักษะบุคลากร เปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น รัฐพร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เตรียมก้าวผ่านสู่อุตสาหกรรม EV ในอีก 6 ปีข้างหน้า

วันที่ 4 มีนาคม 2567 การเดินหน้าไปสู่นโยบาย 30@30 หรือในปี 2030 (2573)ประเทศไทยจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสัดส่วนที่ 30% ขณะเดียวกันไทยก็จะกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub) เป้าหมายที่ท้าทายและดูเหมือนจะไม่ไกลและยากเกินไป แต่ในระหว่างทางอีก 5-6 ปีนับจากนี้ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถสันดาป ที่เคยเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

ได้ถูกดิสรัปชั่นด้วยชิ้นส่วนใหม่ที่ใช้ในรถ EV ปัญหาและความกังวลดังกล่าวได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางและการอยู่รอดของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มาโดยตลอด เนื่องจากจะมีผู้ประกอบการแทบจะทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์สันดาปต้องได้รับผลกระทบ รวมแม้กระทั่งอู่ที่ให้บริการซ่อมรถก็เช่นกัน

ซึ่งปัญหาดังกล่าวภาครัฐได้พยายามหาทางแนวเข้ามารองรับ และย้ำว่า “ประเทศไทยยังคงไม่ทิ้งการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาป และจะเดินหน้าสู่การเป็นฐานการผลิตรถ EV เช่นกัน” แล้วทางออกคืออะไร การปรับตัวสู่สายการผลิตอื่นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่

กระทรวงอุตสาหกรรมหารือสมาคมเครือข่าย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสมาคมเครือข่ายและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ว่า กระทรวงเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นและประเด็นปัญหา เช่น ผลกระทบในการแข่งขันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการไทยจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การลดอัตราอากรขาเข้า การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการขยายตลาดเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง

ซึ่งได้ย้ำมาโดยตลอดที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมสั่งการหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าให้การสนับสนุนได้ในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มศักยภาพ โดยรัฐบาลได้มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม อาทิ การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและการลดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ยอดขายรถยนต์สันดาปลดฮวบ

ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตขึ้นมาก มีนักลงทุนมากมายให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ปรับตัวลดลง ส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ตกลงเป็นอย่างมาก

ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน และมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

และในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประสบปัญหาดังที่กล่าวมา การที่ กระทรวงอุตสาหกรรม จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบถึงประเด็นปัญหาความต้องการจากภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมทั้งเป็นแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนที่ตรงจุดและตรงต่อความต้องการ

ผู้ผลิตชิ้นส่วนกุมขมับ

จากการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ พบว่า ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ ปัญหาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ปัญหาต้นทุนการเงินที่สูง ปัญหาจากมาตรการความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

รวมถึงมาตรการและนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) มาตรการต่ออายุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ (CKD)
และการกำหนดคำนิยามของวัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น Local Content ในระบบราง เป็นต้น

ปรับตัวสู่สายการผลิตอื่น

ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนใน 3 ประเด็นหลัก ตามข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม โดยการเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการลดการปล่อย CO2 เพื่อรองรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

2.การส่งเสริม สนับสนุน และปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่นตามที่ผู้ประกอบการได้เสนอมา เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วน Aftermarket การผลิตชิ้นส่วนทดแทน (REM) อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการบิน และระบบราง เป็นต้น

3.การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทาง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสนับสนุนการค้ำประกันผ่านโครงการติดปีก SMEs ไม่มีหลักทรัพย์ดีพร้อมค้ำประกันให้

เตรียมพบคลัง คิดอัตราอากรขาเข้าชิ้นส่วน

นอกจากนี้ มาตรการและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการศึกษาและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอของผู้ประกอบการต่อไป เช่น การหารือกับทางกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางการการคิดอัตราอากรขาเข้าของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุน

ดึงญี่ปุ่นช่วยพัฒนา

กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีโอกาสร่วมหารือกับ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกับการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น โดยมีแนวทางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมสนับสนุน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น

1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจากยานยนต์ 2.การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3.การลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of-Life Vehicle)

และ 4.การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมทั้ง เสนอให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาให้ไทยเป็นแหล่งสุดท้ายในการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (Last man standing) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกับการกระทรวง METI มีความเห็นพ้องกับแนวทางนี้เช่นกัน