ราคายางจ่อ 90 บาท/กก. แล้ว รอรับข่าวดีขายคาร์บอนเครดิตได้ 4 ตันต่อยาง 1 ไร่

rubber

ราคายางทุบสถิติ 88.25 บาท ลุ้นอีก 1.75 บาททุบสถิติ รอรับข่าวดีขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท. ผนึก อปก. MOU พรุ่งนี้ ดันยางเข้าบัญชีพืช 59 ชนิดขายคาร์บอนเครดิตได้ เตรียมวางสูตรมาตรฐาน 1 ไร่ ได้ 4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

วันที่ 12 มีนาคม 2567 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าวันนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ตลาดกลางยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี ทุบสถิติอีกรอบ ไปถึง 88.25 บาท จากที่ทุบสถิติล่าสุด 81.09 บาท/กก. วันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งราคารับซื้อของบริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด ซึ่งนับว่าขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 100 บาท

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ราคายางขยับทุบสถิติต่อเนื่องหลายครั้ง ดังนี้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคา กก. ละ 77 บาท
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคา กก. ละ 74 บาท
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ 2567 กก. ละ 73.39 บาท/กก.
วันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ราคา กก. ละ 81.09 บาท

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าพรุ่งนี้ (13 มี.ค. 2557) กยท.จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยจะบรรจุ “ยาง” ให้อยู่ในรายการพืชชนิดที่ 59 ที่จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ จากเดิมที่ อปก.ไม่ได้จัดยางให้อยู่ใน 58 ชนิด พร้อมทั้งเสนอให้จัดทำระบบมาตรฐานในการคำนวณการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อจัดทำคาร์บอนเครดิตพืชยางเป็นระบบมาตรฐานร่วมกัน

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

เพราะเดิมทั้งสองหน่วยงานยังมีชุดความรู้ที่ต่างกัน โดยมีการจัดกลุ่มชนิดพืชแบบโตเร็ว โตช้า อายุสั้น เป็นกลุ่ม ๆ และคำนวณราคาคาร์บอนเครดิตแบบคละ 1 ไร่/1 ตันคาร์บอน ซึ่งแตกต่างกับการเติบโตของยางที่ กยท.คำนวณและได้รับการรับรองจาก อปก.แล้วที่ระดับ 1 ไร่/4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“หากใช้สูตรแบบคละแบบเดิมของ อปก. ถ้าคำนวณด้วยราคาคาร์บอนเครดิต 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ชาวสวนก็จะได้เงินเพียงแค่ 200 บาท แต่หากเป็นสูตรเฉพาะสำหรับพืชยางที่คำนวณ 4 ตันคาร์บอน ชาวสวนที่ปลูกก็ได้จะได้เงิน 800 บาทต่อการปลูกยาง 1 ไร่”