รู้ไหมสหรัฐนำเข้า EV สูงสุดในโลก สูงถึง 25.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

EV

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ศึกษาสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ทั้งสถานการณ์การค้าโลกและไทย ปี 2566 มีมูลค่ารวม 175.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พบประเทศนำเข้าสูงสุดสหรัฐ แนะไทยสนับสนุนและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการค้าของไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่าปัจจุบันทั่วโลกตื่นตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากความผันผวนของราคาพลังงานและการตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถานการณ์การค้ารถยนต์ไฟฟ้า

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ในปี 2566 พบว่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in (BEV และ PHEV) ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 175.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 29.40

โดยประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 25.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เยอรมนี 22.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเบลเยียม 18.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 201.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 43.83 โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เยอรมนี 54.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 38.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเบลเยียม 19.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทยอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้เติบโตต่อเนื่องในทิศทางเดียวกับโลกเช่นกัน โดยไทยนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in จากตลาดโลก ในปี 2566 มูลค่ารวม 3,048.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 345.28 ซึ่งประเทศที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 2,549.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เยอรมนี 172.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซีย 119.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (BEV, PHEV, HEV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 71,450 คัน ในปี 2565 (ร้อยละ 20.52 ของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด) เป็น 168,425 คัน ในปี 2566 (ร้อยละ 41.39 ของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด) โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 18.08)

ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของไทยไปตลาดโลก มีมูลค่ารวม 11.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 326.78 โดยไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์มากที่สุด มูลค่า 3.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตสูงถึงร้อยละ 3,177.94 เมื่อเทียบจากปีก่อน รองลงมา ได้แก่ ลาว 2.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น 1.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดึงดูดลงทุน

หลายประเทศในโลกได้ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในมิติการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้นโยบาย 30@30

อาทิ มาตรการเงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมการนำเข้าและการผลิตในประเทศ โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า รวมถึงส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูง จึงอาจทำให้ไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน ประกอบกับมีพื้นที่ยุทธศาสตร์ซึ่งมีความพร้อมทั้งทางด้านคมนาคม แรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้ไทยมีโอกาสขึ้นเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เปิดข้อแนะนำ

สนค. มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการค้าของไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) เร่งส่งเสริมการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษามูลค่าการส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอาจพิจารณาผลักดันการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการและโอกาสการเติบโตสูง อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา และจีน

(2) สร้างความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในตลาดปัจจุบันอาทิ จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่ง และเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสามารถนำมาต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาการผลิตของไทย

(3) ประสานความร่วมมือกับประเทศที่มีวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิด
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือถ่ายโอนเทคโนโลยี และเพื่อทราบถึงมาตรฐานความต้องการแบตเตอรี่และชิ้นส่วนยานยนต์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานได้

(4) ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย รวมทั้งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก เพื่อให้ไทยสามารถหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในกิจกรรมการค้าที่จะมีมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นตลาดที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโต

(5) ติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิดโดยอาจประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ผลิตและส่งออก ทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

(6) สนับสนุนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการต่างประเทศ เพื่อจัดทำความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ อินโดนีเซีย ที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

(7) ศึกษาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่มีศักยภาพเพิ่มเติม อาทิ อินเดีย เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง

(8) ผลักดันผู้ประกอบการให้เร่งศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในกรอบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก