มูลนิธิพลังงานสะอาดแจง 6 ข้อเท็จจริง สาดโคลนเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.

มูลนิธิพลังงานสะอาดแจง 6 ข้อเท็จจริง สาดโคลนตัดคะแนนเสียงเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.

จากกกรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการเผยแพร่ข่าว “มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ” อ้างชื่อสภาอุตสาหกรรม ของบประมาณหน่วยงานรัฐทำวิจัย พร้อมโยงว่าอาจเข้าข่ายผลประโยชนทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?

ซึ่งในเนื้อหาได้มีการกล่าวถึงชื่อของผู้ชิงตำแหน่งอย่าง นายสมโภน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ “EA” มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกัน จนอาจเกิดความสับสนแก่สังคม หรือเรียกว่าเป็นการสาดโคลนเพื่อหวังดิสเครดิตก่อนการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมนี้

โดยก่อนหน้านี้ ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบัน ที่มีชื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แจ้งที่ประชุมในวาระ “3.1 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” พร้อมกับนำเสนอเอกสารบนจอห้องประชุมพาดพิงถึงกลุ่มอุสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน / มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ทำนองที่จงใจให้ผู้เข้าร่วมประชุมและสมาชิก ส.อ.ท. เข้าใจได้ว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย มีการทุจริต ทาง กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ได้ออกหนังสือเปิดผนึกชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม มีวาระซ่อนเร้นให้กลุ่มพลังงานหมุนเวียน กับผู้ถูกพาดพิงเสียหายก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริง 6 ข้อดังนี้
1) กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ตามมติของกลุ่ม พลังงานหมุนเวียน ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ส.อ.ท.

2) การตั้งมูลนิธิฯ และสมาคม RE100 ได้กระทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

3) กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นแกนนำในการผลักดัน ให้จัดตั้งสถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ของ ส.อ.ท. เมื่อ 22 ธ.ค.2564 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบัน CCI เมื่อ 31 พ.ค.2565 เพื่อการสร้างตลาด ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบ Digital Trading Platform

4) บริษัท บล็อกฟินท์ จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่ใช้บริหารจัดการระบบ GIDEON มาให้ส.อ.ท. ได้ใช้ โดยไม่มีค่า License Fee โดยบล็อกฟินท์ฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ส่วน ส.อ.ท. เป็นเจ้าของ FTIX ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้า แต่ ส.อ.ท. ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการตลาดซื้อขาย

5) โดยสถาบัน CCI ได้ขอให้บล็อกฟินท์ฯ พัฒนาซอฟท์แวร์หลายรายการ แต่ ส.อ.ท. ไม่มีงบประมาณ จึงขอให้มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ช่วยเป็นแกนในการขอทุนจาก บพข. จึงระบุ ข้อมูลตามความเป็นจริงว่า โครงการนี้ทำเพื่อให้ ส.อ.ท. ใช้งาน ไม่ใช่เป็นการแอบอ้างชื่อของ ส.อ.ท. ในการขอรับทุน นอกจากนั้นเงื่อนไขยังระบุให้ผู้ขอรับทุนต้องลงเงินทุนเองในสัดส่วน 40:60 ด้วย ซึ่งหลังจากมีเรื่องนี้ บพข. ได้ตอบเป็นหนังสือ ที่ อว 6203/559 ลงวันที่ 27 ก.พ. 2567 3/4 มาที่มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ยืนยันว่า บพข. ไม่มีปัญหากับการขอรับทุนดังกล่าวและมีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนงานของมูลนิธิ

6) กลุ่มพลังงานหมุนเวียน มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. และประเทศชาติโดยรวม จึงไม่ควรมีใครเอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลให้การขับเคลื่อนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนต้องล่าช้า เสียโอกาส เสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดการค้าโลก

ทั้งนี้ การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ของธุรกิจที่อยู่ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีมากกว่า 40 กลุ่มอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 46 กลุ่มมีการดำเนินการร่วมมือกับมูลนิธิหรือสมาคมต่างๆมากกว่า 43 แห่งตามรายละเอียดดังนี้

สำหรับในกรณีมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนซึ่งเป็นประเด็นในขณะนี้ ได้มีการร่วมงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วยดีมาโดยตลอดเป็นเวลามากกว่า 5 ปี อีกทั้งตัวประธานสภาอุตสาหกรรมเองก็ไปร่วมงานและบางงานก็เป็นประธานในงานที่ร่วมมือกันอีกด้วย แต่เหตุใดครั้งนี้จึงกลับกลายเป็นประเด็นถกเถียง จึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกลายเป็นการแข่งขันเพื่อการเอาชนะในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมในสมัยต่อไปเท่านั้น