วิ่งวุ่นหาที่ดินตั้งโรงงานเทสลา กระทรวงอุตฯขอหารือแก้ผังอีอีซีทับซ้อนผังเมือง

การ Roadshow ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีการชักชวนบริษัทเทสลา เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย และตามมาด้วยข้อสั่งการให้นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แก้ปัญหาผังเมืองอุตสาหกรรมไม่เอื้อการลงทุนนั้น ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของเทสลาปรากฏบริษัทต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ (เชื่อกันว่าประมาณ 2,000 ไร่) ในการตั้งโรงงาน แต่ปัจจุบันไม่มีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใดมีพื้นที่ขนาดใหญ่ตามที่ระบุ

นอกจากนี้ การดำเนินการหาพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรมขนาดไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ แม้ว่า “ยังพอมีที่เหลืออยู่” แต่พื้นที่ดังกล่าวมีทางสาธารณะพาดผ่าน รวมถึงยังมีลำคลองสาธารณะติดอยู่ในพื้นที่ด้วย

ดังนั้น หากต้องการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่จริงจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการ “แลก” พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี และยังต้องพิจารณาการติดปัญหาผังเมืองอีก “เราก็ไม่รู้ว่าเทสลาจะรอได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่ว่าเทสลาต้องการที่ดินบริเวณลาดกระบัง-อยุธยานั้น ยังไม่มีการยืนยันเข้ามา

ส่วนการแก้ไขปัญหาผังเมืองอุตสาหกรรมนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อหารือในประเด็นระเบียบ ข้อกฎหมาย และขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณา หรือเปลี่ยนแปลงผังเมืองใหม่

เนื่องจากภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ให้อำนาจ EEC สามารถขีดเส้นผังเมืองอุตสาหกรรมเองได้ ดังนั้น EEC จึงกำหนด “พื้นที่สีเหลือง” เป็นพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดผังเมือง EEC เป็นการเฉพาะขึ้นมาหรือที่เรียกกันว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562

ส่งผลให้นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งรายใหม่และรายเก่าเตรียมพร้อมที่จะขยายพื้นที่ตามเส้นผังเมืองใหม่ของ EEC แต่เมื่อเริ่มดำเนินการกลับพบว่าพื้นที่สีเหลืองของ EEC “ทับซ้อน” กับพื้นที่สีเขียว ซึ่งหมายถึงที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม ไม่สามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้

เพราะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตามเกณฑ์ผังเมืองจะต้องเป็นพื้นที่สีน้ำตาล สีม่วง หรือสีม่วงจุดขาว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่แต่ละหน่วยงานจะต้องมาหารือกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในประเด็นของผังเมืองภายใน 1 เดือน

“ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ โดยทางกระทรวงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานพิจารณาผังเมืองว่า การอนุญาตตั้งโรงงานควรมองโรงงานต่อเนื่องที่จะตามมา อาทิ โรงงานน้ำตาลมักจะต้องคู่กับโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงงานเอทานอล ดังนั้น ผังเมืองที่จังหวัดจะประกาศจะต้องพิจารณาถึงข้อมูลในส่วนนี้ด้วย”

สุดท้ายแล้วทุกหน่วยงานจะต้องนำข้อมูลมารายงานและเสนอต่อกรมโยธาธิการฯ เพื่อใช้อ้างอิงในการขีดเส้นผังเมืองใหม่ โดยจะมีคณะกรรมการผังเมืองระดับจังหวัด ซึ่งมีอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นกรรมการอยู่ด้วย และคณะกรรมการผังเมืองระดับประเทศ ที่มีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ ยังไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าผังเมืองใหม่จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เนื่องจากจะต้องรอการแก้ไขปัญหาผังเมือง กับผังเมือง EEC ที่ทับซ้อนกันอยู่เสียก่อน