ปตท.ฝ่า 5 ความท้าทาย เพิ่มพอร์ตรายได้ “ธุรกิจใหม่” สู่ 30%

ptt

แม้กำลังจะเปลี่ยนผู้นำในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าแผนลงทุน 5 ปี (2566-2570) วงเงิน 89,203 ล้านบาท

ตามที่บอร์ดได้มีมติอนุมัติ เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต เป้าหมายคือการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานอนาคตรวมถึงธุรกิจใหม่ และต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

ส่งไม้ต่อ ซีอีโอใหม่

นายอรรถพลกล่าวว่า แผนลงทุน 5 ปี (2566-2570) อยู่ที่ 89,203 ล้านบาท จัดสรรการลงทุนเป็นกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท

ADVERTISMENT

หรือ 4% บริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท 31% และเฉพาะในปี 2567 จะใช้เงินลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท

โดย ปตท.วางเป้าหมายการลงทุนว่า ในปี 2570 ธุรกิจต่างจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy & Beyond) จะมีสัดส่วนมากกว่า 30% จากปัจจุบันที่ ปตท.มีสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. มาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 45% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 9% และมีส่วนที่มาจากธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่น ๆ เพียง 17%

ขณะที่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่การเติบโตสำหรับพลังงานสะอาด (Clean Growth) จะอยู่ที่ 15% นับจากปี 2020โดยจะมีพลังงานหมุนเวียน 15 GW และพลังงานคอนเวอร์ชั่น 5 GW และ LNG 9 ล้านตัน (MTPA)

ADVERTISMENT

สำหรับธุรกิจ Future Energy จะหมายถึง ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซัพพลายเชนด้าน EV อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และไฮโดรเจน ส่วนกลุ่มธุรกิจ Beyond จะหมายถึง ธุรกิจกุล่ม New S-curve คือ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle)

รวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-Oil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)

ADVERTISMENT

“ธุรกิจใหม่คือส่วนที่ทำให้ ปตท. มีรายได้และเติบโตมากขึ้น จากวางเป้าหมายไว้ว่าจะมุ่งไปธุรกิจที่เป็น New S-curve ปัจจุบันสามารถทำยา EV Bio AI โลจิสติกส์ ถือว่า New S-curve ทั้งหมดทำครบแล้ว แล้วใช้โมเดลการเติบโต ด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา การเปลี่ยนผ่านผู้นำ ปตท. เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท.อยู่แล้ว ถือว่าสบายใจได้ ซึ่งคนใหม่น่าจะรู้ PTT Way อยู่แล้ว เชื่อว่าการเดินตาม PTT Way มันจะประสบความสำเร็จ การรับไม้ต่อจะทำให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยอยู่แล้ว เหมือนกับที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด”

ฝ่าความท้าทาย 5 ด้าน

ซีอีโอ ปตท.ระบุว่า ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มผันผวน โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากปีก่อน เช่น ราคาน้ำมัน Dubai ปี 2567 หรือ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปีก่อนที่ราคาเฉลี่ย 82.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

“ความท้าทายที่จะกระทบต่อพลังงานในปี 2567 ใน 5 เรื่องหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 3.1% ในขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัวเข้าสู่ “ซอฟต์แลนดิ้ง” นโยบายด้านการเงินในแต่ละประเทศ การควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก พลัส อุปทานจากกลุ่ม Non-OPEC ที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ เรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน”

ความท้าทายปี 2567

3 ปี “อินโนบิก”

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (INNOBIC) กล่าวว่า ธุรกิจ Life Science ปตท. เปิดดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ผลิตยา เช่น ยาชีววัตถุที่มีนวัตกรรม ยาสามัญที่เพิ่งหมดสิทธิบัตร โดยมุ่งไปที่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น

นอกจากนี้ได้ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีกลุ่ม ปตท. ใช้เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนผลิตผ้า Melt Blown รวมถึงการผลิตยางสังเคราะห์ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เพื่อเป็นวัตถุดิบทำถุงมือไนไตรล์ รวมไปถึงการผลิตอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยา

ทั้งนี้ มีการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด (INNT) จัดตั้งขึ้นในปี 2565 ดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของโภชนาการทางการแพทย์ (Medical Nutrition) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลทางด้านโภชนาการ โดยจะพัฒนาสูตรสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและสูตรสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค

และในส่วนของโภชนเภสัช (Nutraceutical) ธุรกิจเกี่ยวกับโภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเพื่อป้องกันโรค และตั้งบริษัท อินโนบิก เอลเอล โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อเพิ่มทุนบริษัทยา Lotus Pharmaceutical บริษัทผลิตยาชั้นนำในไต้หวัน การก่อตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด ที่ผลิตอาหารแพลนต์เบสให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการด้านอาหาร และแบรนด์ต่าง ๆ

อัพเดตธุรกิจ “ไฮโดรเจน”

ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากเมื่อปี 2562 ที่ ปตท.ได้จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทยไปแล้ว

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) โดยได้มีการจัดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และทดสอบการใช้งานของรถ FCEV จำนวน 2 คัน ในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากโครงการก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่งของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ เทรนด์การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อลดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน แทนพลังงานฟอสซิลที่กำลังจะหมดไปในอนาคต ซึ่งในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ “พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen)” นับว่าเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกหันมาศึกษา เนื่องจากองค์ประกอบของก๊าซไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอนจึงไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ฝุ่นละออง หรือมลพิษไอเสียอื่น ๆ

นอกจากนี้ไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมัน Gasoline ประมาณ 3 เท่า โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียวนับว่าเป็นพลังงานที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดหากเทียบกับไฮโดรเจนสีอื่น ๆ หลายประเทศจึงให้ความสนใจในการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง

ราคาไฮโดรเจน “ลดลง”

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญคือ ราคาไฮโดรเจนที่ยังสูงจึงทำให้การใช้ยังไม่แพร่หลาย

แต่ทว่าหลังจากนี้แนวโน้มราคาไฮโดรเจนในอนาคตมีโอกาสที่จะ “ลดลง” มาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ ต้นทุนของเทคโนโลยีของ Water Electrolysis มีราคาต่ำลง คือ ลดลงกว่า 40-50%ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2019) และอย่างที่สองก็คือ ราคาต้นทุนไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่มีแนโน้มลดลง

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยราคาต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลดลงกว่า 40-90% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2010-2020) ราคาของไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตได้ในปัจจุบันทั่วโลกจะอยู่ในช่วง 1.6-10 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไฮโดรเจนสีเขียวก็จะขึ้นอยู่กับราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศนั้น ๆ และขนาดกำลังการผลิต

หลังจากนี้คงต้องรอดูทิศทางการเดินหน้าแผนการลงทุนของ ปตท. Next Step ในมือ ซีอีโอใหม่ “คงกระพัน อินทรแจ้ง” ที่จะมารับไม้ต่อว่าจะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จอย่างที่เคยสร้างไว้ในปี 2566 ด้วยกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.6% ของยอดขาย ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท ไว้ต่อเนื่องได้หรือไม่ อย่างไร