อธิบดีปศุสัตว์พบเอกอัครราชทูตจีน หารือเปิดตลาดส่งออกโคมีชีวิต รอลุ้นอีก 2 เดือน

อธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าพบเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย หารือความคืบหน้าความร่วมมือการเปิดตลาดโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้แนวทางการจัดทำพื้นที่ปลอดโรค (Regionalization) หวังสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคไทยเป็นอย่างมาก ถ้าพิจารณาเอกสารใน 2 เดือน

วันที่ 29 มีนาคม 2567 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์และคณะ เข้าพบหารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อขอคำปรึกษาและหารือความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการขอเปิดตลาดการส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากไทยไปจีน

ภายใต้แนวทางการจัดทำพื้นที่ปลอดโรค (Regionalization) ซึ่งเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ได้แจ้งให้ทราบว่าหน่วยงาน GACC ปักกิ่ง ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำพื้นที่ปลอดโรคที่กรมปศุสัตว์จัดส่งไปแล้ว และอยู่ในระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญของจีน ทำการพิจารณาเอกสารดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณา พร้อมยืนยันว่า จะติดตามประเด็นความร่วมมือนี้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้แจ้งเอกอัครราชทูตจีนว่า เร็ว ๆ นี้ จะนำคณะไปเยือนมณฑลยูนนานเพื่อสำรวจเส้นทางส่งออกและธุรกิจการค้าโคมีชีวิตรวมถึงเยี่ยมคารวะและหารือรายละเอียดมาตรการการนำเข้าโคมีชีวิตกับสำนักงานศุลกากรคุนหมิง สำนักงานเกษตรยูนนาน และสำนักงานพาณิชย์ยูนนาน โดยเอกอัครราชทูตจีนเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุน เนื่องจากจะแสดงให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนตระหนักถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนการค้าโคมีชีวิตไทย-จีนของกรมปศุสัตว์และรัฐบาลไทย

ทั้งนี้การขับเคลื่อนการผลักดันการส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์รับสนองนโยบายของรัฐบาลซึ่งจัดทำแผนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดและนโยบายในการเตรียมตัวส่งออกโค มีชีวิต ผ่านการรับรองคุณภาพ “ปลอดโรคปลอดภัย” เพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าว่า สินค้า ปศุสัตว์ไทยปราศจากโรค พร้อมกันนี้เร่งเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อให้ผู้เลี้ยงโคสามารถเติบโตในอาชีพได้อย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมูลค่าประมาณ 19,224 ล้านบาท โดย เป็นสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง ประมาณ 16,917 ล้านบาท สินค้าอื่น ๆ เช่น กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์ น้ำผึ้ง และรังนกรวม 1,015 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 1,292 ล้านบาท