เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ เจ้าตลาด “นวัตกรรมกรีน” งานก่อสร้าง

เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์
เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

เทรนด์การลดการปล่อยคาร์บอนกำลังเป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมมุ่งไป ไม่เว้นแม้แต่ “ภาคก่อสร้าง” ซึ่งได้เริ่มหันมาพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่อัพเกรดเป็นทั้งอุปกรณ์ที่มาช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคาร ลดการใช้พลังงานอย่างกรีนรูฟ หรือสร้างสีเขียวให้กับอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ด้วยกรีนวอลล์

ซึ่งสถาปนิกอาคารขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น วันแบงคอก, อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาคารสภาวิศวกร อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์ โรงแรมสุดสวยอย่าง Salil Riverside ต่างได้นำนวัตกรรมช่วยรักษ์โลกมาใช้ แต่รู้หรือไม่ว่าที่มาของวัสดุก่อสร้างกลุ่มนี้มาจากบริษัทที่มีชื่อว่า “ชิลเลี่ยน อินโนเวชั่น” ที่ก้าวเข้ามาบุกตลาดวัสดุก่อสร้างรักษ์โลกนานกว่า 10 ปีแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิลเลี่ยน อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัท เอ พลัส พี คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งหลายคนอาจจะรู้จักเขาในบทบาท “นักการเมืองรุ่นใหม่” ในฐานะอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงอดีตผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร เขตยานนาวา พรรครวมไทยสร้างชาติ ถึงแพสชั่นในการทำธุรกิจส่วนตัวนี้

จุดเริ่มต้น “ซิลเลี่ยน อินโนเวชั่น”

จุดเริ่มต้นธุรกิจเกิดเมื่อ 10 ปีแล้วจากความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและคิดถึงลูกหลานในอนาคต ตอนนั้นเริ่มมีลูก เราเห็นว่าโลกร้อนขึ้นและเราเห็นประเทศสิงคโปร์หันสนใจเทรนด์สีเขียวมากขึ้น จึงเริ่มมาต่อยอดธุรกิจเดิมที่เป็นธุรกิจระบบกันน้ำ สร้างอาคารและเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง ทำให้ตอนนี้กลายเป็นบริษัทที่นำเข้าวัสดุก่อสร้างที่มีนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมติดตั้งให้กับงานอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท

“เรานำเข้าวัสดุก่อสร้างที่เป็นอินโนเวชั่นทั้งจากทางสหรัฐ ยุโรป และสิงคโปร์ เพื่อมาแก้ปัญหาก่อสร้างอาคาร เน้นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิลได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าอาคาร วันนี้ที่เรากลายเป็นอันดับ 1 ของตลาดที่ทำสวนแนวตั้ง (Vertical Garden)”

อาคารสีเขียว

พลังงานสะอาดคู่อาคารสีเขียว

โมเดลของสิงคโปร์ จะมีพื้นที่สีเขียวเมื่อเทียบกับประชากรอยู่ที่ 66 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่ไทยมีเพียง 6-9 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ผมจึงเห็นช่องทางการเติบโตของพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยอีกมาก เพราะสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกต้องร่วมกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศา ทำให้พื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่เมืองที่เป็นป่าคอนกรีต ซึ่งจะมีการสะสมความร้อนจนเกิดปรากฏการณ์ที่ชื่อว่า เกาะความร้อนในเมือง (Heat Urban Island Effect)

สิงคโปร์แม้จะเป็นประเทศร้อนชื้นในแถบเส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกับไทย แต่อุณหภูมิเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศไทย เพราะในแต่ละอาคารเขาจะกำหนดค่าความร้อนที่เข้าสู่อาคารและกำหนดพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสวนขนาดใหญ่ เพราะสามารถเป็นได้ทั้งสวนแนวตั้ง หลังคาเขียว (Green Roof) หรือกำแพงสีเขียว (Green Wall) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะลดอุณหภูมิเฉลี่ยภายในอาคารลงได้มากถึง 10 องศาเซลเซียส ช่วยประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศ ทั้งยังสามารถใช้คู่กับแผงโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานสีเขียว ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไปพร้อมกันด้วย

“แม้ว่าต้นทุนวัสดุสีเขียวสำหรับการลงทุนช่วงแรกจะมีราคาที่สูงกว่าการก่อสร้างอาคารปกติ แต่หากมองในระยะยาว เมื่อถึงจุดคุ้มทุนแล้วจะกำไรในช่วงหลังเหมือนโซลาร์เซลล์”

เทรนด์อาคารสีเขียว

เทรนด์ตลาดอาคารสีเขียวเติบโตขึ้นมาก โดยสถาบันการศึกษานำร่องไปก่อน อาทิ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่เป็น Urban Farming ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แนวคิดดังกล่าวเกี่ยวโยงกับเรื่อง Smart City ภาครัฐเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ศูนย์ราชการที่แจ้งวัฒนะ ที่มีหลังคาสีเขียวบนอาคารจอดรถ พอราชการทำแล้ว เอกชนก็ขับเคลื่อนต่ออย่าง โครงการ One Bangkok เป็นโครงการที่เข้าสู่ทั้งเรื่องดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์อนาคต

“เราออกแบบระบบหลังคากันความร้อนให้โครงการ One Bangkok มีหลายชั้น ใช้แนวคิดหลังคาสีเขียว ชั้นแรกจะเป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม เพิ่มความเย็นและกรองความร้อนผ่านต้นไม้ ต่อมาคือ ชั้นดินและหลุมเก็บน้ำ ซึ่งน้ำก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากนั้นก็มีฉนวนกันความร้อนและระบบกั้นน้ำรั่ว ซิลเลี่ยนฯออกแบบทั้งภูมิทัศน์ควบคู่กับการนำเสนอโซลูชั่นประหยัดพลังงานทั้งระบบจนสามารถคำนวณปริมาณการใช้พลังงานได้ และสามารถเป็น Smart Building”

ถ้าภาครัฐอยากสนับสนุนให้เทรนด์อาคารสีเขียวนี้เกิดต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาสามารถใช้หักภาษีได้มากขึ้น หรือมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) นอกจากนี้ควรมีกฎข้อบังคับกำหนดค่าความร้อนภายในอาคาร

คาดการณ์รายได้ปี’67

“รายได้โดยเฉลี่ยเติบโตจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วเกินกว่า 50% ประมาณ 500-600 ล้านบาท ตามเทรนด์ การขยายตัวของพื้นที่เมืองจนไม่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแนวราบได้ สวนแนวตั้งจึงได้รับความนิยม
ปีนี้คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 80% หรือราว 300-400 ล้านบาท จากการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ที่เพิ่มขึ้น และโรงงานอุตสาหกรรมของเอกชน เป็นลูกค้าหลักประมาณ 65% ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้รับเหมาช่วง (Subcontract)”

“การโฟกัสไปที่กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะกลุ่มนี้เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ใช้ไฟฟ้ามหาศาล ต้องทำความเย็นตลอด อย่างล่าสุดรับทำระบบอาคารงานทรู ดาต้า เซ็นเตอร์ ต้องคำนวณระบบเพื่อกันความร้อนไม่ให้เข้าอาคาร และใช้พลังงานให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ ปัจจุบันกำลังคุยกับซาอุดีอาระเบียอยู่ที่กำลังเริ่ม The Line ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยกลางทะเลทรายที่ออกแบบโดยใช้แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก”

โอกาส-ความท้าทายธุรกิจ

ความท้าทายของธุรกิจ ในเรื่องค่าเงิน ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวช่วงโควิด มีผลต่อธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ แม้จะไม่ได้กระทบหนักมาก แต่ต้องวางแผนสั่งสินค้าล่วงหน้า ซึ่งค่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถือว่าช่วยไม่ได้เพราะอาคารที่เราประมูลราคาระบบมาแล้วก็ไม่สามารถเพิ่มราคาได้อีก ฉะนั้นเราต้องกลับมาบริหารต้นทุนการติดตั้งของเราเองให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ขณะที่โอกาสธุรกิจเรามองจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น เวลาเราไปที่ร้านอาหารจะเห็นว่าอาหารเหลือทิ้งเยอะมาก มีสถิติคนไทยทิ้งอาหารกว่า 10 ล้านตันต่อปีเกิดกลิ่นเน่าเหม็น บริษัทจึงได้พัฒนาเครื่องกำจัดขยะอาหาร หรือ Food Composer ที่มีความสามารถมากกว่าที่เราไปดูจากต่างประเทศ คือ สามารถบดเปลือกหอยหรือกระดูกชิ้นใหญ่ให้กลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 24 ชั่วโมง ขนาดเครื่องมีตั้งแต่ 30 กก.ไปถึง 100 กก. เหมาะสำหรับโรงอาหาร โรงแรม ร้านอาหารขนาดใหญ่ ตอนนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร เตรียมจำหน่ายภายใต้ชื่อ ซิลเลี่ยน และเริ่มมีมหาวิทยาลัยติดต่อซื้อเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ เรามีการพัฒนานวัตกรรม “แก้มลิงเมือง” เป็นระบบกล่องที่เป็นช่องว่าง ที่นำไปวางในพื้นที่ใต้ดิน สามารถหน่วงน้ำเก็บไว้ใต้ถนน อาคารหรือสวนสาธารณะ สนามฟุตบอลได้ โดยน้ำที่กักเก็บไว้สามารถระบายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สามารถนำไปแก้ปัญหาน้ำท่วม และในอนาคตอาจพัฒนาแบบสิงคโปร์ ที่กำลังมีเทรนด์ใหม่ คือ หลังคาสีฟ้า (Blue Roof) ที่ให้หลังคาช่วยหน่วงน้ำไว้ป้องกันน้ำท่วม

“นวัตกรรมใหม่มีมาตลอด เราต้องทดลองตลาด เพราะสินค้าบางอย่างคนไทยยังไม่เปิดรับ เช่นเดียวกับนวัตกรรมดิจิทัลที่บางอย่างก็เร็วเกินกว่าจะขับเคลื่อน ฉะนั้น ต้องรอเวลาก็จะมาเอง แต่คนที่ทำก่อนจะได้แต้มต่อกว่า”