วิกรม วัชระคุปต์ ปิดช่องเหล็กนำเข้า-หนุนลงทุนต้นน้ำ

หลังจากกลุ่มผู้ใช้เหล็กในประเทศกว่า 200 รายรวมตัวขอให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่…) พ.ศ. …ที่จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการใช้มาตรการตอบโต้สินค้าหลบเลี่ยง (anticircumvention : AC) เพื่อช่วยผู้ผลิตวัตถุดิบเหล็กในประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “วิกรม วัชระคุปต์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะกลุ่มผู้ผลิตถึงประเด็นดังกล่าว และทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่า

Q : มองการแก้ไขกฎหมายนี้อย่างไร

ถือเป็นกติกาสากล ทุกคนอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้ เพราะหากทุกคนพูดถึงการทำฟรีเทรด (การค้าเสรี) ก็ต้องมีแฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม) ด้วย จะเลือกปฏิบัติคงไม่ใช่

Q : ให้อำนาจใช้ดุลพินิจมากเกินไป

เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องไปดูรายละเอียด แต่ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้วหลายรอบจนจะใกล้จะมีผลบังคับใช้แล้ว

Q : ฝั่งผู้นำเข้าใช้เหล็กในประเทศไม่ได้

ก็ถ้าเขานำเข้ามาอย่างถูกต้องก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะเป็นกฎหมายป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด ถ้าไม่หลบเลี่ยงก็ไม่ต้องกลัว แต่ถ้าแข่งแล้วไม่ได้อยู่บนเกณฑ์เดียวกันก็แข่งไม่ได้

Q : มาตรฐานเหล็กในประเทศใช้ได้

มีมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) กำกับอยู่ ถ้าเหล็กตัวใดใช้ไม่ได้ก็นำเข้า ไม่มีใครว่า แต่อีกด้านถ้ามาตรการกีดกันไปกันสินค้าที่เราผลิตไม่ได้มันก็ไม่ถูก

Q : การพัฒนาอุตฯ เหล็กในอนาคต

ปัจจุบันมีการลงทุนผลิตเหล็กพิเศษชนิดต่าง ๆ มากขึ้นแต่เรามีปัญหาในส่วนเหล็กต้นน้ำซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาล ถ้ารัฐไม่ส่งเสริมก็จะยาก เพราะอย่างแรกเกี่ยวกับ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เอกชนทำไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องรัฐบาลทำ และพอเอาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปใส่ผลกระทบกับคนในพื้นที่ รัฐต้องบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ เอกชนทำเองไม่ได้ อย่างเคสญี่ปุ่น จีน หรือเวียดนาม รัฐเป็นผู้นำในการจัดการ ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมเหล็กก็ไม่เกิด

Q : ข้อเสนอการพัฒนาต้นน้ำ

ก็มีการหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการพัฒนาให้เป็นตามนโยบาย 4.0 ซึ่งเราพยายามอธิบายให้ฟังว่า เรื่องต้นน้ำมีปัญหา ถ้าไม่มี ตัวนี้มันต้องมีมาตรการระยะยาว แต่รัฐจะมีตัวช่วยเพื่อลดความเสี่ยงให้เราอย่างไรได้บ้าง อย่างรัฐบาลญี่ปุ่น เกาหลี ให้ธนาคารเพื่อการลงทุนคล้าย EXIM Bank ไปช่วยเรื่องสเปเชียลโลนให้ในการออกไปลงทุน ถ้าไม่มีการส่งเสริมโอกาสพัฒนาจะยาก และเหล็กยังเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ด้วย ซึ่งในสัปดาห์นี้จะไปพบกับท่านอุตตม (สาวนายน) รมว.อุตสาหกรรม เพื่อหารือในรายละเอียด

Q : เงื่อนไขการสนับสนุนเป็นอย่างไร

ต้องการให้ช่วยเรื่องลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยประเทศที่น่าสนใจ คือ อิหร่าน เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดี ไม่มีกฎระเบียบภายในที่เป็นอุปสรรค แต่หากลงทุนไปแล้วเกิดปัญหาแซงก์ชั่นขึ้นมา ผลิตแล้วไม่สามารถส่งออกมาขายได้ แล้วสินค้าไปขายที่อื่นต่อไม่ได้จะทำอย่างไร หรือทวายก็มีเรื่องระบบสาธารณูปโภค ใครจะเอาไปใส่ หากรัฐส่งเสริมเอกชนไทยพร้อม ตอนนี้ก็มี 2-3 เจ้าที่พร้อม เช่น ทาง SSI ก็สนใจ

Q : ความต้องการเหล็กครึ่งปีหลัง

ทุกคนหวังว่ามันน่าจะดีขึ้น โดยช่วงหลังจะเป็นโปรเจ็กต์ก่อสร้างของภาคเอกชน เช่น แวร์เฮาส์มากขึ้น คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างประมาณ 10% ที่เหลือเป็นกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งภาพรวมปีนี้เหล็กน่าจะขยายตัว 10% หรือประมาณ 17 ล้านตัน

ส่วนผลดีจากการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่จะเปิดประมูลภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คงไม่เห็นในปีนี้ เพราะต้องดูว่าใครได้ และรายละเอียดแต่ละโครงการเป็นอย่างไร