พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล สร้างสมดุลทางรอด “ปศุสัตว์ไทย”

สัมภาษณ์

เดือนสิงหาคมเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดครอปใหญ่ของปี 2560/2561 แต่ปัญหาเรื้อรังเดิมยังไม่ได้รับการสะสาง ทั้งผลผลิตลอตใหญ่ 70% ออกมากระจุกตัว-ชาวไร่ยังใช้ที่ดินผิดกฎหมาย และวัตถุดิบยังไม่เพียงพอผลิตอาหารสัตว์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์ในฤดูกาลนี้ว่า

Q : ปรับโมเดลลดรุกป่า-ปลูกหลังนา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำยุทธศาสตร์ข้าวโพดปรับโมเดลปลูกข้าวโพดจาก 70-25-5 เป็น 20-30-50 หมายถึง ลดปลูกข้าวโพดต้นฝน 70% ให้เหลือ 20% และเพิ่มข้าวโพดรุ่น 2 คุณภาพดีจาก 25% เป็น 30% และเพิ่มข้าวโพดหลังนาจาก 5% เป็น 50% เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพ และราคาข้าวโพดตกต่ำ

ตอนนี้รอเสนอคณะรัฐมนตรีของบประมาณโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา 7 พันล้านบาทในช่วง 3 ปี เริ่มจากปี 2561/2562 เพื่อให้เงินสนับสนุนเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท และงบฯค่าจัดการต่าง ๆ บนพื้นที่เป้าหมาย 3.36 ล้านไร่ ใน 35 จังหวัด ส่วนภาคเอกชนจะไปตั้งจุดรับซื้อในราคา กก.ละ 8 บาท

Q : ลดการรุกป่ายังไม่คืบหน้า

พื้นที่ปลูกข้าวโพดต้นฝน 70% มีทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย แยกเป็นพื้นที่เขตป่า 3.72 ล้านไร่ พื้นที่ไม่เหมาะสม 0.89 ล้านไร่ รวมเป็น 4.61 ล้านไร่ คิดเป็น 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดของประเทศ 7.84 ล้านไร่ ส่วนนี้ต้องลดไปเลย เพื่อคืนกลับเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งภาครัฐ ฝ่ายทหาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการขอความร่วมมือชาวบ้าน แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีความอ่อนไหวมาก

ที่ผ่านมาสมาคมฯ ร่วมมือกับชุมชนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้เป็นป่า และมีเอกชนอีกหลาย ๆ บริษัท เช่น ซี.พี., ปตท. ช่วย ๆ กัน รวม 600-700 ไร่ แปลงไปปลูกพืชอื่น เช่น กาแฟ ทดแทน โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ช่วยตรวจสอบควบคุม ขับเคลื่อนกันไป แต่คงต้องใช้เวลานานในการลดพื้นที่ตรงนี้ และปลูกทดแทนกัน

Q : ปีนี้จะหยุดซื้อข้าวโพดผิดกฎหมาย

ต้องค่อย ๆ ลดซื้อข้าวโพดที่ปลูกโดยไม่มีเอกสารสิทธิตามโมเดล ปีละ 20% คงใช้เวลาอีก 5 ปี ในวันนี้ยังไม่เห็นภาพการปลูกข้าวโพดหลังนาทดแทนพื้นที่ผิดกฎหมาย เพิ่งเปลี่ยนได้ไม่กี่ร้อยไร่ ดังนั้น ปีการผลิต 2560/2561 สมาคมมีมติว่า จะไม่สนับสนุนการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ไม่ได้บังคับขึ้นกับนโยบายแต่ละบริษัท และจำเป็นต้องสื่อสารไปให้ผู้นำเข้าต่างประเทศคลายความกังวล ถึงแม้ว่าตอนนี้ไม่มีมาตรการ แต่อนาคตมาแน่

Q : ทำไมไม่ใช้ไม้แข็งหยุดซื้อไปเลย

การคุมเลยย่อมทำได้ แต่ควรมีทางเลือกให้เกษตรกร การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดมีความอ่อนไหวหลายด้าน ที่ผ่านมาพ่อค้าอ้างว่าโรงงานอาหารสัตว์ไม่ซื้อข้าวโพดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อไปกดราคารับซื้อเกษตรกร เหลือ กก.ละ 1.50-2.00 บาท มาขายให้โรงงาน 8.00 บาท มีตัวเลขลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาขาย โดยอ้างว่าผลผลิตได้มากกว่า 4.5 ล้านตัน พอโรงงานไม่ซื้อ ก็ไปขายผู้ส่งออก ซึ่งไม่ถูกคุมราคา 8 บาท ยอดส่งออกเพิ่มถึง 700,000 ตัน ปีที่ผ่านมา หรือประกาศตูมหากไม่ซื้อจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เท่ากับซัพพลายหายไปครึ่งหนึ่งเหลือ 2.5 ล้านตัน ทำให้วัตถุดิบที่ขาดเพิ่มจาก 3 เป็น 5.5 ล้านตัน สมมุติเป็นเช่นนั้นต้องมีทางออก เช่น ให้สิทธินำเข้าวัตถุดิบเสรีมาทดแทน เปิดนำเข้าข้าวโพดชายแดน หรือยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วนต่อการให้สิทธิ์นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อให้วัตถุดิบครบ 8 ล้านตัน ไม่เช่นนั้นโรงงานต้องหยุด รัฐต้องผลักข้าวโพด 2.5 ล้านตันส่งออก ส่วนข้าวโพดถูกกฎหมายจะมีราคาเท่าไรต้องไปถัวเฉลี่ยกับราคาวัตถุดิบนำเข้า

Q : รัฐจะคุมต้นทางคนขายเมล็ดพันธุ์

การไปจำกัดตรงนั้น ความยากจะมีอีกแบบ กระทรวงเกษตรฯขอความร่วมมือจากสมาคมเมล็ดพันธุ์ อย่าขายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

แต่สมาชิกของสมาคมไม่ได้ครอบคลุมบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งประเทศ จะมีเมล็ดพันธุ์เถื่อนออกมาแน่นอน และด้วยกลไกการขายที่ต้องผ่านให้พ่อค้าคนกลาง ซึ่งคงมีการนำเมล็ดพันธุ์ไปปล่อยขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องที่ไปปล่อยเกี๊ยวกันไว้ก็ได้ หรือหากบริษัทใดประกาศไม่ขายเพียงบริษัทเดียว ก็กลายเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับบริษัทอื่นที่ไม่ประกาศ เสี่ยงที่จะทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำลงไปอีก

Q : การแก้ปัญหาขาดวัตถุดิบปีนี้

ความต้องการใช้ข้าวโพด 8.1 ล้านตัน มีข้าวโพด 4.5 ล้านตัน จึงยังต้องใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 นำเข้าข้าวสาลีอีก 1.5 ล้านตันแต่ก็ลดลงจากปีก่อน 3 ล้านตัน เพราะปีนี้ได้มีการประมูลซื้อข้าวสาร 2 ล้านตันจากสต๊อกรัฐทดแทนทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้นำเข้าข้าวสาลี 5-6 แสนตัน แต่ยังไม่กระทบราคาข้าวโพดที่ตกลงกันไว้ กก.ละ 8 บาท ณ โรงงานกรุงเทพฯ การซื้อขายจริง ๆ เป็นไปตามดีมานด์-ซัพพลาย ซึ่งในช่วงนี้ราคาขยับขึ้น กก.ละ 8.20-8.30 บาท ปีนี้ไม่มีอะไร แต่ต้องคิดถึงปีหน้าถ้าไม่มีสต๊อกข้าวรัฐจะแก้เรื่องวัตถุดิบอย่างไร ต้องวางระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายทาง ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตอนนี้กำหนดมาตรการควบคุมให้มาขึ้นทะเบียนแล้ว

Q : ปกป้องผู้ปลูกกระทบส่งออกปศุสัตว์

เรามีคู่แข่งทั้งสหรัฐ บราซิล แล้วยังมีเวียดนาม วันนี้มีพัฒนาด้านปศุสัตว์เท่ากับไทยแล้ว น่ากลัวมาก ๆ มีการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศปีละ 5 ล้านตัน ตอนนี้เร่งปลูกและใช้พืชจีเอ็มโอด้วย โรงฆ่าไก่ได้รับใบอนุญาตจากญี่ปุ่น ขณะที่ค่าจ้างแรงงานถูกเพียง 1 ใน 3 ของไทย แต่เวียดนามขยันกว่า ส่วนไทยแรงงานไม่มี ต้องใช้ต่างด้าวนี่คือสิ่งที่คุกคามธุรกิจ

Q : ทางออกที่ทุกฝ่ายรอด

การสร้างสมดุลคืออะไร ตอนนี้พยายามช่วยเกษตรกร โดยรับซื้อข้าวโพดตามเงื่อนไขของรัฐ ถามว่าเราแบกคนเดียวได้หรือ และต้องนำเข้าข้าวสาลีด้วย อีกด้านชายแดนมีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ 1 ล้านตัน เป็นแรงกดดันราคา รัฐให้เราซื้อ 8 บาทก็ซื้อหมด แต่เราไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ตอนนี้เหมือนมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเอากำไรมากแล้วผลักภาระให้กับกลุ่มอาหารสัตว์ ขณะที่ต้นทุนเราโป่ง ตัวทดแทนไม่มี แต่อีกกลุ่มหนึ่งฟันกำไรส่วนต่าง อ้างยอดจาก 4.5 เป็น 5.5 ล้านตัน ถ้ายืนหยัดเดินไปใน 5 ปี ข้าวโพดพวกนี้จะหายไปเอง เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ ปีหน้าคงมีมาตรการชัด ปีนี้คงไม่ทันแล้ว

Q : วางอนาคต 5 ปีข้างหน้า

สมาคมกำลังศึกษายุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อตอบ 3 โจทย์ ทั้งความปลอดภัย (safety) ความมั่นคง (security) และความยั่งยืน (sustainablity) ประสานกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน เป็นดัชนีชี้วัดการใช้ทรัพยากร ว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อมเท่าไร ถือเป็นมาตรฐานที่มาก กว่า GAP และมีความโปร่งใส

ไทยต้องรีบพัฒนาตัวเองหนีคู่แข่ง อยากให้เห็นภาพรวมว่าธุรกิจต้องกระโดดไปถึงเรื่องที่โลกสนใจ พืชทุกชนิดต้องทำ เพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิตในประเด็นใหม่ที่คุกคามเรานี่ยิ่งกว่า 4.0