โควิดดันทูน่ากระป๋องยอดพุ่ง ทียูลดเสี่ยง กระจายฐานผลิต

ปลาทูน่า ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป / TU / Thai Union

ทียูโชว์สถานะการเงินแกร่ง กำเงินสด 5,000 ล้านบาท ฝ่าวิกฤตโควิด ดันยอดขายครึ่งปีแรกกว่า 60,000 ล้านบาท โต 4.3% สูงสุดในรอบ 3 ปี มั่นใจบริษัทโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง จากความต้องการปลากระป๋องพุ่งพรวดแซงหน้าอาหารทะเลแช่แข็ง เตรียมควัก 3,600 ล้านบาท ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อยอดอาหารโปรตีนทางเลือก พร้อมชูกลยุทธ์กระจายพอร์ตลงทุน ตั้งฐานผลิตในต่างประเทศลดเสี่ยง คว้าสิทธิประโยชน์เปิดเสรีทางการค้า FTA ไม่ต้องรอผลเจรจา FTA รัฐบาลไทย

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกือบทุกธุรกิจในประเทศตกอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่กลุ่มไทยยูเนี่ยน (TU) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายใหญ่ของโลก ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 กลับไปได้ดีเกินความคาดหมาย ด้วยยอดขายที่มีมูลค่า 64,145 ล้านบาท หรือเติบโต 4.2%

นับว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี จากการขยายตัวของสินค้าอาหารทะเลกระป๋องซึ่งขยับสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 45% เป็น 50% สินค้าอาหารแช่เยือกแข็ง 35% นำพาบริษัทเข้าใกล้เป้าหมายด้วยยอดขาย 5,000 ล้านเหรียญที่ตั้งเอาไว้ภายในปี 2567

ธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
ธีรพงศ์ จันศิริ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การล็อกดาวน์ของหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ส่งผลดีต่อกลุ่มอาหารกระป๋องที่ขายผ่านช่องทางค้าปลีกเป็นหลัก โดยสินค้าในกลุ่มนี้สามารถเติบโตได้ถึง 30-40% ขณะที่กลุ่มอาหารแช่เยือกแข็งซึ่งครึ่งหนึ่งขายผ่านร้านค้าปลีกและอีกครึ่งหนึ่งขายผ่านฟู้ดเซอร์วิส กลับได้รับผลกระทบจากธุรกิจที่ต้องปิดตัวเองลงในช่วงของการล็อกดาวน์ประเทศ

“การจำหน่ายอาหารกระป๋องใช้ช่องทางหลักคือรีเทล ข้อดีคือเป็นสินค้าราคาไม่แพง ใช้ง่าย เก็บได้นาน จึงเติบโตค่อนข้างสูงมาก เดิม TU มีรายได้จากการขายอาหารกระป๋องส่วนนี้ประมาณ 40% ขณะที่กลุ่มโฟรเซ่นเดิมอยู่ที่ประมาณ 40% เรียกว่าครึ่ง ๆ แต่เนื่องจากฟู้ดเซอร์วิสได้รับผลกระทบมากเพราะร้านอาหารปิดหมด ทำให้ยอดขายติดลบ 20-30% แต่อาหารกระป๋องอาจจะบวก 30-40% ทำให้ไตรมาส 2 ท็อปไลน์ของ TU โต 2.5% gross profit เติบโตมากถึง 1,400% แต่ที่พิเศษก็คือยอดปริมาณ (วอลุ่ม) โตถึง 10% ซึ่งในไทยมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มกว่า 25% รวมแล้วขณะนี้ TU ใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยกว่า 90% จากปีปกติที่ใช้อยู่ประมาณ 70%”

นอกจากนี้บริษัทยังสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นด้านต่าง ๆ ลงได้มาก ส่งผลให้ operating profit โต 50% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปีก่อนและบริษัทยังมีกระแสเงินสดมากกว่า 5,000 ล้านบาท และด้วยเหตุที่ยังไม่มีการลงทุนเพิ่มในไตรมาสนี้ TU จึงสามารถจ่ายเงินปันผลได้ 32 สตางค์ต่อหุ้น หรือเพิ่มจากปีก่อนที่จ่าย 28 สตางค์/หุ้น

ครึ่งปีหลังไม่ทำ M&A

ส่วนการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 3/2563 นั้น นายธีรพงศ์มองว่า โควิดจะอยู่ต่อไปอีกช่วงหนึ่ง ทำให้ธุรกิจของ TU “มีแนวโน้มไปได้ดี” กำลังซื้อและการบริโภคยังดีสำหรับสินค้าในหมวดอาหารและยังหวังว่าการคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกจะทำให้ “ร้านอาหาร”กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทำให้ยอดอาหารแช่แข็งกลับมาดีขึ้น

โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2563 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นปกติ จากความเชื่อที่ว่า อย่างไรเสียเศรษฐกิจก็ยังต้องเดินต่อไปให้ได้ การประเมินข้างต้นยังไม่รวมถึงปัจจัยในเรื่องของวัคซีน หากผลิตวัคซีนโควิดสำเร็จแนวโน้มธุรกิจก็จะดีกว่านี้อีก

ปัจจุบันสัดส่วนตลาดหลักของ TU อยู่ที่อเมริกาเหนือ 42% สหภาพยุโรป 30% และอื่น ๆ 18% ส่วนตลาดในประเทศไทยมีสัดส่วน 10%

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์แบบนี้ การซื้อและควบรวมกิจการ หรือ M&A จึง “ไม่อยู่ในแผน piority หลักของ TU” แต่จะเน้นแผนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุน ปรับปรุงอัตราทำกำไรให้สูงขึ้น

“สถานการณ์อย่างนี้ทำให้ TU ต้องเพิ่มความระมัดระวัง วิกฤตครั้งนี้ซับซ้อนมากกว่าครั้งอื่น ๆ จะทำอย่างไรให้ TU สามารถผลิตสินค้าแล้วส่งมอบเต็มที่ทั้งโลก ต้องดูแลกระแสเงินสด วิกฤตนี้กระทบทุกคนแต่ผมมองว่า TU ผ่านช่วงที่ยากที่สุดไปแล้ว และในปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (capex) 3,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ตัดลงจากก่อนหน้าโควิดที่ตั้งเป้าหมายลงทุน 4,500-4,900 ล้านบาท”

ต่อจากนี้ไป TU จะมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพเป็นส่วนใหญ่และเน้นธุรกิจใหม่ที่มีอัตรากำไรสูงมากขึ้น เช่น ธุรกิจส่วนผสมอาหาร โปรตีนทางเลือก โปรตีนจากพืช อาหารสุขภาพเสมือนยา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา TU ลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจเหล่านี้ด้วยการใช้งบนวัตกรรมไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่น่าพอใจทั้ง fish oil แคลเซียม โปรตีน ซึ่งจะเร่งรัดการลงทุนให้เร็วขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ในสินค้ากลุ่มนี้

กระจายพอร์ตลดเสี่ยงลงทุน

นอกจากปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจจากเรื่องของโควิดและค่าเงินบาทแล้ว ปัจจัยของการไปลงทุนในต่างประเทศก็จะมีเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง การบริหารจัดการกลไก และการทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ TU ขยายการลงทุนไปยังแต่ละประเทศที่เป็นฐานการผลิต 16 แห่ง ใน 14 ประเทศทั่วโลกได้ถูกกำหนดยุทธศาสตร์ว่า แต่ละฐานผลิตจะผลิตสินค้าประเภทใด สามารถส่งออกไปตลาดไหนและจะได้รับสิทธิประโยชน์การส่งออกอย่างไร

 ยกตัวอย่าง เวียดนามมีความตกลง FTA ทุกฉบับไปแล้ว โดยเฉพาะ ความตกลงเวียดนาม-อียู (EVFTA) หรือแม้กระทั่ง CPTPP TU ไม่ได้กังวลเรื่องการแข่งขันในส่วนนี้เพราะ TU มีโรงงานที่เวียดนามที่พร้อมจะผลักดันให้โรงงานที่เวียดนามเป็นฐานการผลิตใหญ่ขึ้นถ้ามีโอกาส ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ที่ยุโรป เราก็พยายามมีออปชั่นมากขึ้น แต่ไม่ใช่เราไม่อยากอยู่ประเทศไทย เราอยากจะทำที่ประเทศไทย”

ส่วนการส่งออกสินค้าเข้าไปในสหภาพยุโรปที่มีระบบโควตาภาษี TU ได้ใช้ฐานการผลิตประเทศกานาและเซเชลส์เพื่อส่งออกไปอียูโดยเฉพาะจากสิทธิประโยชน์ข้อตกลงการค้าเสรี ACP เสียภาษี 0%และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทไทยยูเนี่ยน ยุโรป (TUES1) ได้ลงทุนเพิ่มสัดส่วนหุ้นใน บริษัท TUMD Luxembourg S.a.r.l จาก 45% เป็น 90% ด้วยงบประมาณ20 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก TUMD เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัท DPR Group ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ในรัสเซีย