สรท.รวบปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เสนอ “กกร.-ศบค.” เร่งแก้

ส่งอกสินค้า-ท่าเรือ

สรท. นำข้อเสนอปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศพุ่งสูง เข้าที่ประชุม กกร.-ศบค. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแก้ไขหลังจากกระทบผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า แข่งขันลำบาก กฎระเบียบไทยยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก ขณะที่การส่งออกไทยทั้งปีคาดติดลบ 10%

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันพรุ่งนี้ (9 กันยายน 2563) สภาผู้ส่งออกฯ จะเสนอต่อที่ประชุมกรณีการหามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า โดยเฉพาะเรื่องของการลดต้นทุนลอจิสติกส์ซึ่งมีทิศทางที่สูงขึ้น พร้อมกับการลดเงื่อนไข กฎหมาย กฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อลอจิสติกส์ในปัจจุบัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ เป้าหมายการส่งออกไทยทั้งปี 2563 ยังคงประมาณที่ ติดลบ 10%

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์
กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์

นอกจากเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกร.แล้ว สภาผู้ส่งออกจะนำข้อเสนอเข้าสู่ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” กระทรวงคมนาคม รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อหามาตรการเข้าช่วยเหลือเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแข่งขัน และการส่งออก เห็นได้จากแนวโน้มของค่าระวางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ หรือหากดูจากต้นทุนโดยรวมของค่าขนส่งทั้งค่าระวาง การบริการ ค่าตู้ เป็นต้น ต้นทุนอยู่ที่ 25.7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ยุทธศาสตร์การลดต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศที่ตั้งไว้ 12%

สำหรับ ข้อเสนอที่จะเสนอนั้นมี 5 ข้อด้วยกัน เพื่อเร่งแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า คือ 1. ขอให้แก้ไขความสูงของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสิ่งของขนาด High Cube (HC) และรถบรรทุกรถยนต์ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 18 เป็น 4.6 เมตร 2. เร่งรัดการทำสัญญาสัมปทานสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดีลาดกระบัง) ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ไอซีดีลาดกระบัง และ SRTO ให้การบริการรับส่งสินค้าในรูปแบบตู้สินค้า ในการขนส่งอย่างมีความต่อเนื่อง และปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ บำรุงรักษาพื้นที่ภายในโครงการ ลงทุนจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ แรงงาน และสาธารณูปโภค ให้มีความพร้อมสำหรับรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น

3.ขอให้เลื่อนการบังคับใช้ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 และ ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ บรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2563 และกำหนดนโยบายลดต้นทุนการขนส่งชายฝั่งให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่น

4.ขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่า Cargo Dues สำหรับเรือ Barge ที่ขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้า ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยาเข้าไปขนถ่าย หรือส่งมอบ ณ ท่าเรือเอกชน หรือท่าเรืออนุญาตที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาณาเขตท่าเรือกรุงเทพ และขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มประเภทของสินค้าที่ต้องชำระค่า Cargo Dues และกำหนดอัตราเรียก เก็บสำหรับสินค้าแต่ละกลุ่มให้สอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนของสินค้าเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก

5. ขอแก้ไขเงื่อนเวลาตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 102, 103 เรื่องถ่ายลำ ผ่านแดน ให้ของถ่ายลำหรือผ่านแดนสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 60 วัน และขอให้แก้ไขบทลงโทษให้สินค้าที่ไม่สามารถส่งออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นของตกค้างตามกฎหมายศุลกากรแทนการตกเป็นของแผ่นดิน

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการภายใต้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับยกระดับประสิทธิภาพโลจิสติกส์ ทางบก อาทิ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ทางเรือ อาทิ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการขนส่งทางน้ำ โครงการพัฒนา Port Community System (PCS) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2

ทางราง อาทิ เร่งรัดการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น -หนองคาย โครงการก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง แห่งที่ 2 (ICD 2) (6.4) ทางอากาศ อาทิ การเตรียมความพร้อมเครื่องมือในการตรวจเอ็กซเรย์สินค้าในท่าอากาศยานนานาชาติให้สอดคล้องกับมาตรการ Air Cargo Security 2021 โดย International Civil Aviation Organization (ICAO)

ส่วนเป้าหมายการส่งออกไทย ทั้งปี 2563 นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า ยังมองติดลบ 10% จากปัจจัย สถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง ทิศทางการนำเข้าหดตัวลง ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า ระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2562 มากกว่า 30% ส่งผลต่อการชะลอของอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลก ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาภัยแล้ง

เห็นได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก อาทิ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยฯ-ป่าสัก ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ส่งผลต่อคุณภาพและอุปทานของสินค้าเกษตรที่อาจไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก อาทิ กลุ่มสินค้าข้าวและอ้อย เป็นต้น และปัญหาด้านโลจิสติกส์ในประเทศและระหว่างประเทศ อาทิ ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเส้นทางทรานส์แปซิฟิกและเส้นทางยุโรป

เนื่องด้วยการประกาศขึ้นค่าระวาง รวมถึงการจัดระวางขนส่งและตู้สินค้าจากสายเรือไปยังเจ้าของสินค้าจากจีนและเวียดนามในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับจัดสรรระวางและตู้สินค้าไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีการเสนอราคาค่าระวางที่ค่อนข้างสูงแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้าข้ามชาติ อีกทั้งผู้ประกอบการได้รับส่วนต่างกำไรจากคำสั่งซื้อลดลงเนื่องด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยบวก การส่งออกไปในตลาดสหรัฐขยายตัว การส่งออกในกลุ่มอาหารขยายตัว เป็นต้น