บ้านปูเล็งซื้อโรงไฟฟ้าสหรัฐ800MWต่อยอดแหล่งก๊าซ

บ้านปู เพาเวอร์ ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ใน 5 ปีแผนปีོ เล็งศึกษาโอกาสลงทุน M&Aโรงไฟฟ้า 800 MW ที่เพนซิลเวเนียหรือเทกซัส เชื่อมโยงแหล่งก๊าซบ้านปูพร้อมลงทุนต่อ “ญี่ปุ่น-เวียดนาม” เพิ่ม จากครึ่งปีหลังปีนี้ฉลุย COD แล้ว459 MW ใน 3 ประเทศ

หลังจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ประกาศปิดดีลสัญญาซื้อขายแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิตเฉลี่ย 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มูลค่าการลงทุน 489.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,407.89 ล้านบาท) ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2563

จากเดิมได้เริ่มเข้าไปลงทุนที่แหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส รัฐเพนซิลเวเนีย เวสต์เวอร์จิเนียโอไฮโอฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของรัฐนิวยอร์ก มูลค่าการลงทุน 522 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 15,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเฉลี่ย 170-200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งเข้าด้วยกัน ส่งผลให้บ้านปูฯเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตก๊าซที่ใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกในสหรัฐ มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอย่างน้อย 12 ปี

ล่าสุด นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทประสานให้ทีมงานบริษัทบ้านปูในสหรัฐศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าที่สหรัฐ เพื่อต่อยอดหลังจากบริษัทแม่ (บ้านปู) ได้เข้าลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เพนซิลเวเนีย และเทกซัส วางเป้าหมายว่าจะสรุปผลการศึกษาในต้นปี 2564

“เบื้องต้นจะเป็นการเข้าไป M&A ในasset เดิม โดยจะพิจารณาเลือกโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 800 MW ขึ้นไป เน้นพื้นที่ใกล้แหล่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทแม่เข้าไปลงทุน และต้องเป็นแหล่งที่ให้ความคุ้มค่าในการลงทุน 2 หลัก ซึ่งด้วยความที่เป็นแหล่งขนาดใหญ่อาจใช้วิธีการร่วมทุน แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้งบประมาณเท่าไร เพราะต้องรอผลสรุปก่อน ข้อดีคือสหรัฐมีเครื่องมือในการลงทุนหลายรูปแบบการลงทุนนี้เราจะไม่ต้องควักเงินเลย เหตุที่เราต้องให้ทีมงานของบริษัทศึกษาเพราะติดเรื่องการระบาดของโควิด-19 ทางทีมเราเลยไม่สามารถเดินทางไปได้ก็ใช้วิธีการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์”

สำหรับการลงทุนครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 1) มุ่งไปในแหล่งที่บริษัทแม่เข้าไปลงทุนก่อนแล้วเพื่อประโยชน์ในการ synergy ทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยกัน 2) การมุ่งไปยังประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และ 3) ประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะเน้นที่สหรัฐ แต่ยังมีเวียดนาม จีน และญี่ปุ่นที่เป็นประเทศเป้าหมายหลักที่เราจะมุ่งไป

นายกิรณกล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจ BPP ในปีนี้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 459 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี 2,400 เมกะวัตต์แล้ว รวม 2,859 เมกะวัตต์ จากการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้า 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงที่จีนขนาด 396 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 30% จากกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 1,300 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าโซลาร์ที่ญี่ปุ่น 2 แห่ง คือ ยาบูกิ และยามางาตะรวมกำลังการผลิตขนาด 25 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน ที่เวียดนาม 38 เมกะวัตต์ ซึ่งหากพิจารณาจากผลประกอบการแล้วจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่จีนมีสัดส่วน 30% สปป.ลาว 35% และเวียดนาม ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มอื่น ๆ 35%

“ปัจจัยบวกต่อธุรกิจในครึ่งปีหลังเรื่องแรกมาจากการ COD ไฟที่เพิ่มขึ้นอีก 459 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหงสาที่ปิดปรับปรุงสามารถกลับมาผลิตได้ปกติแล้ว ต้นทุนค่าถ่านหินปรับตัวลดลงและแม้ว่าจะเพิ่งปรับขึ้นมาประมาณ60 เหรียญสหรัฐ แต่เราได้สต๊อกวัตถุดิบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเพื่อนำไปใช้ผลิตช่วงฤดูหนาว”

ส่วนในปีหน้ายังมีแผนการลงทุนตามไปป์ไลน์อีก 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าโซลาร์ 2 แห่งที่ญี่ปุ่น คือ ที่เคนเซนนุมะและชิราคาวะ รวม 30 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าลมหวินเจา ระยะที่ 1 ที่เวียดนาม30 เมกะวัตต์ และเตรียมศึกษาเพิ่มเติมเฟส 2 และ 3 รวมอีก 50 เมกะวัตต์ และมองหาโอกาสในการลงทุนในที่ใหม่ ๆ ในอีกหลายประเทศ อาทิ ขยายในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายว่าในปี 2025 (2568) จะมีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 2,900 เมกะวัตต์ รวมเป็น 5,300 เมกะวัตต์ โดยจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 20% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 6 หรือ 16%

นายกิรณกล่าวว่า ปัจจัยจากการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าที่ประเทศจีน เพราะช่วงแรกที่มีการระบาดรัฐบาลสั่งให้ปิดดำเนินการทุกอย่าง ผู้บริหารของเราไม่สามารถเดินทางไปยังโรงงานในต่างประเทศในหลาย ๆ ประเทศได้

“นอกจากการลงทุนผลิตไฟฟ้าแล้ว ตอนนี้เทรนด์ผู้ทำธุรกิจพลังงานกำลังก้าวสู่การเป็นผู้ค้าพลังงาน functional trader เป็นผู้ค้าพลังงานขั้นกลางน้ำซึ่งขณะนี้จะมีที่ญี่ปุ่นและสหรัฐที่ใช้ระบบนี้ คือ ผู้ใช้จะเปิดให้ผู้ผลิตเข้าไปบิดไฟขายตามช่วงเวลา ใครให้ราคาดีกว่าก็ชนะไปเมอร์ชั่นมาร์เก็ต ซึ่งรัฐจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกโดยมีแพลตฟอร์มให้ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตมีวอลุ่มเทรดเพิ่มขึ้น ตอนนี้เราได้เริ่มทดลองระบบนี้ในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีออสเตรเลียที่มีระบบที่ก้าวไปถึงระดับที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเป็นเทรดเดอร์และขายไฟโดยตรงให้กับผู้บริโภคด้วย ซึ่งเราได้ทราบข้อมูลมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การจะเข้าไปทำการตั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำจะต้องมีความแกร่งมาก”