เช็กลิสต์รายการสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบส่งออกไปสหรัฐฯ “เฉลิมชัย” ไม่ง้อ เตรียมหารือทูตเกษตร ปรับแผนเจาะตลาดใหม่ เบนเข็มลงทุนประเทศที่ยังได้รับสิทธิ์ GSP
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะมอบนโยบายตามแผนงานปีงบประมาณ 2564 แก่ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ หรือทูตเกษตรทั่วโลก เพื่อผลักดันนโยบายและแผนงานภาคการเกษตร เพื่อสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ได้สั่งการให้ทูตเกษตรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเกษตรและความต้องการของต่างประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯสามารถกำหนดนโยบายและแผนงานให้ภาคการเกษตรสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก.อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบเชิงลึกต่อภาคเกษตร หลังสหรัฐตัดสิทธิ์พิเศษทางภาษี (GSP) สินค้าไทย กรณีไทยไม่เปิดตลาดหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงให้สหรัฐ โดยมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม 2563
นายฉันทานนท์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบต่อสินค้าเกษตร หลังมีการระงับจีเอสพีมีสินค้าจำนวน 231 รายการ พบเป็นรายการสินค้าเกษตรจำนวน 44 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เครื่องเทศ เมล็ด ผลและสปอร์ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช รวมถึงน้ำตาลและกลูโคส การระงับสิทธิจีเอสพีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้าเกษตรที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 1.9-9.6%
โดยจากรายการสินค้าเกษตร 44 รายการพบว่ามีสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าในตลาดสหรัฐฯจำนวน 22 รายการ ประกอบด้วย สินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บตามมูลค่าสินค้า จำนวน 13 รายการ
ส่งผลให้ไทยมีต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นประมาณ 17.72 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้นมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชมีชีวิต ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช พืชผักปรุงแต่ง กลูโคสและน้ำเชื่อมกลูโคส และเครื่องเทศ
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บภาษีตามสภาพ อีก 9 รายการ ซึ่งจะมีภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าของสินค้าอีกจำนวนหนึ่งด้วย เช่น ถั่วลิสงปรุงแต่ง และเมล็ดพืชผักที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก มะม่วงปรุงแต่ง
“การดำเนินการต่อไปของไทยเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ไทยควรให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น การส่งเสริมให้มีการเปิดตลาดกับประเทศคู่เจรจา FTA ของไทยให้มากขึ้น อาทิ เร่งทำข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐ รวมทั้งการไปลงทุนผลิตในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ์จีเอสพีอยู่”