“ปลัดแรงงาน” ยันยังไม่เริ่มจัดซื้อ “เครื่องสแกนม่านตา” ยกมีความแม่นยำกว่านิ้วมือ-ใบหน้า

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าว ของกระทรวงแรงงานว่า ขณะนี้ขอยืนยันยังไม่มีการจัดซื้อเครื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็มีความคิดเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมเครื่องสแกนม่านตา เพื่อภารกิจในการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันมีใช้อยู่เพียง 30 เครื่องใน 22 จังหวัด โดยเป็นเครื่องที่ยืมมาจากทาง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงอีกด้วย ในส่วนของข้อสังเกตเรื่องราคาต่อเครื่องซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทนั้นต้องยืนยันว่า เป็นราคามาตรฐาน สำหรับเครื่องประเภทนี้ โดยยังมีรายละเอียดการจัดซื้อจัดหาที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นเสียก่อน ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน พร้อมทั้งขอยืนยันว่าจะมีการพิจารณาใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากที่สุด เพราะหากประเมินมูลค่าการเก็บข้อมูลม่านตา ที่แม่นยำกว่าการตรวจสอบข้อมูลด้วยลายนิ้วมือ 100 เท่า หรือใบหน้า 10 เท่า ก็จะถือว่าคุ้มค่าการลงทุน

“เครื่องสแกนม่านตาของกรมเจ้าท่า ที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ยืมมาใช้นั้นอยู่มี 30 เครื่อง แต่ชำรุดไป 3 เครื่อง อาจจะเพียงพอเฉพาะการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานประมง 7 หมื่นคน ที่ต้องแล้วเสร็จในเดือน มีนาคม 2561 เพื่อเร่งแก้ปัญหา IUU Fishing หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย ขณะที่กรมการจัดหางานยังมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศอีกมากกว่า 2 ล้านคน ที่ต้องพิสูจน์อัตตลักษณ์ให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 61 จเต้องไม่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทยอีก เพราะฉะนั้น การวางระบบพิสูจน์อัตลักษณ์ของแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะใช้วิธิการสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือวิธีการอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการฯจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้วิธีใดการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว” นายจรินทร์กล่าว

นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่มีแนวโน้มในการเลือกใช้การสแกนม่านตาในการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวนั้น นอกจากเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกแล้ว ความแม่นยำสูงกว่าระบบอื่นๆ เดิมที กรมเจ้าท่า และกระทรวงแรงงงาน มีการใช้ระบบสแกนม่านตามุ่งเน้นในกลุ่มประมง เนื่องจากมีปัญหาลายนิ้วมือลบเลือนจากการทำงานในเรือประมง จึงต้องใช้การสแกนม่านตาแทน ซี่งเป็นระบบยืนยันอัตลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพ การเก็บข้อมูลจากม่านตาก็เหมือนพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับบัตรประจำตัวที่ถืออยู่ ประกอบกับที่ผ่านมา แรงงานประมงใช้บัตรชั่วคราวที่เรียกว่าบัตรสีชมพู ซึ่งจะหมดอายุในเดือน พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะต้องมาทำใบบอนุญาตทำงาน (เวิร์กเพอร์มิต) กับกรมการจัดหางานอยู่แล้ว จึงได้โอนภารกิจจากกรมเจ้าท่ามาที่กรมการจัดหางาน เพื่อเก็บข้อมูลด้านอัตลักษณ์ไปในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ยังมีข้อมูลจาก สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่ระบุถึงระบบการพิสูจน์อัตลักษณ์ (Biometic) ทั้งในส่วนของใบหน้า ลายนิ้วมือ และม่านตา พบว่าระบบม่านตา มีระดับความแม่นยำที่ 1 ต่อ 1,500,000 ส่วนลายนิ้วมือมีระดับความแม่นยำที่ 1 ต่อ 10,000 ขณะที่ใบหน้ามีระดับความแม่นยำที่ 1 ต่อ 100,000 ซึ่งหากใช้ประกอบการทั้งใบหน้า และม่านตา จะมีโอกาสที่จะผิดพลาดน้อยมาก หรือ 1 ในแสนล้าน อีกทั้งระบบม่านตาเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐเช่น FBI, CIA และ NASA ก่อนหน้านี้การใช้งานอาจไม่แพร่หลาย เนื่องจากอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดเก็บมีราคาแพง แต่ในปัจจุบัน อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์เริ่มมีราคาที่ถูกลง จึงถูกนำมาใช้มากขึ้น เช่น อินเดีย มีการจัดเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและม่านตาของประชากรกว่าพันล้านคน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็มีโครงการจะนำเทคโนโลยีม่านตามาใช้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

 

ที่มา มติชนออนไลน์