จี้แก้วิกฤตแรงงานโควิดกระทบภาคผลิต ฉุดจีดีพี 0%

หอการค้าไทยเดินหน้าร่วมมือภาครัฐ กระทรวงแรงงาน ผลักดันมาตรการแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 วอนรัฐเร่งกู้วิกฤตโควิดคสัสเตอร์โรงงาน ชี้หากฉีดวัคซีนช้า ขยายการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบภาคผลิตเศรษฐกิจไทยทั้งปีมากเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท ทุบ GDP Growth ติดลบ -1.5% ถึง 0%

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ว่าหอการค้ามีความห่วงใยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ตลอดจนได้ร่วมสนับสนุนผลักดันการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทยตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงมาเป็นระยะเวลา 2 ปี จนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้งโดยเร็ว

แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้น ได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นเวลานาน และมีสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน/วัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจากการล็อกดาวน์ รวมถึงผลจากการระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 จากเดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น ประมาณ 8 แสน-1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเทศไทยต้องมีการขยายการล็อกดาวน์ต่อไป อาจส่งผลกระทบเกิน 1 ล้านล้านบาทสำหรับปีนี้ ซึ่งจะทำให้ GDP Growth มีโอกาสติดลบ -1.5% ถึง 0%

ทั้งนี้ คณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ทำงานและประสานงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ในการออกนโยบายมาตรการเยียวยาต่างๆ อาทิ การตรวจคัดกรองเชิงรุกการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตน และสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ โดยเฉพาะมาตรการการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน

เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย โดยกรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันตน ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการจากคำสั่งของรัฐเกิน 90 วัน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ได้ขยายมาตรการดัวกล่าวแล้ว โดยหากมีคำสั่งใหม่ให้ปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเริ่มต้นครั้งใหม่ได้อีกไม่เกิน 90 วัน ตามระยะเวลาที่คำสั่งนั้นมีผลบังคับใช้

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากระทรวงแรงงาน ด้วยการนำของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) จะมีมาตรการเยียวยาดูแลประชาชน ผู้ประกันตน สถานประกอบการอย่างต่อเนื่องแล้ว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีการจัดการอย่างล่าช้า

ดังนั้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงขอเสนอมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันเป็นการเร่งด่วน ดังนี้

1.มาตรการเร่งรัดการจัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะพื้นที่สีแดง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปในจังหวัดใกล้เคียงและควบคุมตัวเลข ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้มีจำนวนสูงมากไปกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน

2.สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนจับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล”

3.เร่งรัดการจัดหาเตียงสำหรับผู้ประกันตนและในกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อ โควิด-19 โดยเฉพาะเตียงสีเหลืองและเตียงสีแดง

4.จัดสรรวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33

5.ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 สิงหาคม 2562 กลุ่มมติ 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 1.3 ล้านคน ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้นั้น จึงขอให้เร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีนและจับคู่งานกับนายจ้าง (Matching) เพื่อให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว

6.จัดตั้ง Team Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้าและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (จำนวน 500,000 คน ) และศึกษาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU แบบบูรณาการตามมาตรการของสาธารณสุข

” การจัดการของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน โดยไทยได้มีมาตรการ bubble&seal ระบบนี้ใช้ในประเทศจีนเยอะ เราคิดว่า มีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่องควบคู่กับ Factory Sandbox ส่วนสัญญาณจากต่างประเทศนั้นที่ผ่านมา ประเทศจีนมีค่อนข้างเข้มงวดมากที่สุด แต่ประเทศอื่นยังไม่มี แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบภาพรวม เดือนกรกฎาคม ยังเจอปัญหาตู้คอนเทนเนอร์อยู่ ถามว่าจะกระทบหรือไม่หากยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทั้งหมด แน่นอนว่าอาจมีผลกระทบเนื่องจากมีทั้งแรงงานทั้งในและนอกภาคเกษตร

ดังนั้นขอให้เร่งรัดจัดสรรวัคซีน ดูแลแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงาน ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งภาคการส่งออก ภาคการผลิต การแปรรูปสินค้าวัตถุดิบในประเทศซึ่งยังได้รับการจัดการที่ล่าช้าอยู่”

นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า มาตรการในการดูแลสถานประกอบการและลูกจ้างร่วมกับกระทรวงแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คือ

1.มาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตน

2.มาตรการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกใน สถานประกอบการ

3.มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและสถานประกอบการ

4.มาตรการการบริหารจัดการช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานต่างด้าว อาทิ

1) มาตรการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตน โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อเร่งรัดให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถสรุปผลการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ใน 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 1,321,286 เป็นคนไทย 1,197,463 คนต่างชาติ 123,823 คน แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่ง จำนวน 1,297,362 คน และได้รับวัคซีนครบสองเข็ม จำนวน 23,924 คน โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน ดังนี้

1.1) ระยะที่ 1 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผลการดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 13 สิงหาคม 2564 ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้ว จำนวน 918,753 คน (ไทย จำนวน 848,514 คน ต่างด้าว จำนวน 70,239 คน)

1.2) ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดเขตเศรษฐกิจและจังหวัดกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2564 และจังหวัดนครปฐม อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 รวมจำนวน 13 จุดบริการ ซึ่งมีผลการดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2564 ฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้ว จำนวน 356,266 คน (ไทย จำนวน 308,252 คน ต่างด้าว จำนวน 48,014 คน)

1.3) รวมกรุงเทพมหานครและ 9 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 13 สิงหาคม 2564 ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้ว จำนวน 1,275,019 คน (ไทย จำนวน 1,156,766 คน ต่างด้าว จำนวน 118,253 คน)

1.4) ฉีดวัคซีนให้กับคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 80,000 คน โดยเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งมีผลการดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2564สามารถฉีดวัคซีน โควิด-19 ในกลุ่มแรงงานในแคมป์ จำนวน 29,788 จาก 266 แคมป์

1.5) จัดสรรวัคซีนให้แก่ BOI เพื่อฉีดให้กับกลุ่มแรงงานต่างชาติ (BOI) จำนวน 50,000 โดส (2 เข็ม) ซึ่งมีผลการดำเนินงาน : ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ โดยได้รับการฉีดไปแล้วจำนวน 9,034 โดส

ส่วนที่ 2) มาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก

2.1) ครั้งที่ 1 ตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในสถานประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดโควิด ระลอกที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2564) สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ในสถานประกอบการที่มีความสุ่มเสี่ยงในการรับเชื้อ – กระจายเชื้อโรคโควิด-19 โดย “การสุ่มตรวจ” ด้วย RT- PCR และ rapid test (การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย)

ขณะที่ ส่วนที่ 3) มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน โดยให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500 บาทต่อคน ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดตามประกาศข้างต้น ให้ได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อคน

4) มาตรการบริหารจัดการช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานต่างด้าว มีทั้งการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติรวมถึงผู้ติดตามที่เป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี กว่า 500,000 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในช่วงปลายปี 2563 อยู่และทำงานได้จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าวจาก 30 วัน เป็น 60วัน

รวมไปถึงอยู่ระหว่างการหารือกำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อนำคนต่างด้าว (กลุ่ม Unskilled Labour) เข้ามาทำงานตาม MoU หลังจากที่ได้มีการชะลอการนำเข้าแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศ เป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการนำเข้าแรงงานฝีมือ (กลุ่ม Skilled Labour) ในปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ทำงาน โดยที่นายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างด้าวนั้น ๆ จะต้องปฏิบัติตนตามแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด

ด้านนายผนิศวร  ชำนาญเวช  รองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการขณะนี้คือ ข้อมูลที่แม่นยำในเรื่องมาตรการและการเข้าถึงวัคซีนของแรงงาน ส่วนโรงงานต้องปรับตัวมากอยู่แล้วโดยช่วงนี้จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศในช่วงที่กุ้งไทยมีน้อยและเป็นไปตามฤดูกาล เพื่อให้สมดุลทั้งราคาและการผลิตและเพื่อส่งออก รวมทั้งสินค้าไหนที่ขายได้มากขึ้นพร้อมบริโภคก็ให้เดินหน้าต่อไป แต่สินค้าไหนขายได้น้อยก็ลดกำลังผลิตลง อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เผชิญมากที่สุดคือปัญหาโลจิสติกส์