“กฤษฎา” เร่งนำยางค้างสต๊อก 1 แสนตันใช้ในหน่วยงานรัฐ ยันไม่เทขาย ชี้งานระยะสั้น 3 เดือนต้องเห็นผลทันที

“กฤษฎา”เร่งนำยางค้างสต๊อก 1 แสนตันใช้ในหน่วยงานรัฐ ยันไม่เทขาย ประกาศชัดงานระยะสั้น 3 เดือนต้องเห็นผลทันที ตั้งแต่เกษตรกรปลูกแล้วต้องขายได้ ราคาซื้อสูงกว่าต้นทุนการผลิต

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มภารกิจหลัก ให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ คนละ 2 กลุ่มงาน โดยนายลักษณ์ วจนานวัช รับผิดชอบเรื่องผลผลิต และการตลาด ส่วนนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร มอบหมายให้ดูเเลขั้นตอนการผลิต และเกษตรทฤษฎีใหม่ สานต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์ของศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่ภารกิจแรกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการคือการลงพื้นที่ตรวจความพร้อม “โครงการห้วยโสมง” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ “เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ในช่วงบ่ายของวันนี้เพื่อเตรียมรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการดังกล่าวในวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม

ทั้งนี้ การดำเนินงานช่วง 3 เดือนแรกจะเน้นสานต่อนโยบายหลักเพื่อนำมาขยายผลให้มากขึ้น ส่วนนโยบายด้านใดที่ยังมีช่องโหว่จะเร่งปรับปรุง รวมทั้งเรื่องปัญหายางพาราที่ค้างอยู่ในสต็อก 1 แสนตัน จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติสั่งให้เร่งแก้ไขเร่งด่วนภายใน 3 เดือน โดยให้นำยางพาราที่อยู่ในสต็อก ไปใช้ในหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น และยืนยันว่าไม่มีนโยบายนำยางที่ค้างสต๊อกมาขายแข่งในตลาดอย่างแน่นอน

สำหรับเรื่องต้นทุนการผลิตยาง ได้สั่งให้กรมวิชาการเกษตรและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดูข้อมูลต้นทุนการผลิตยางว่าอยู่ในระดับใด เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ราคาขายสูงกว่าต้นทุน หากราคาขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ก็จะต้องหามาตราการมาเสริม ส่วนเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ภายใน 1 ปี หากกระทรวงเกษตรฯ ลงไปแนะนำเกษตรกรหรือสนับสุนนให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดใด ต้องขายได้ ไม่ล้นตลาด และมีผู้ซื้อชัดเจน ต้องได้ราคาซื้อสูงกว่าต้นทุนการผลิตให้ได้

นายกฤษฎากล่าวต่อไปว่า ต้องการดูแลเกษตรกรให้เดือดร้อนน้อยที่สุด ในเรื่องการทำการเกษตรแล้วขายไม่ได้ ราคาตกต่ำ ซึ่งตนโชคดีที่มีรมช.ช่วยสองท่าน คือ นายลักษณ์ วัจนานวัช และ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่มีประสบการณ์ในสาขาเกษตรมาแล้วและเข้าใจพื้นฐานเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ตลอด 37 ปีที่ตนรับราชการมาตลอดทางด้านรัฐศาสตร์ ด้านการปกครอง แต่ในช่วง 3 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการได้ร่วมงานกับกระทรวงเกษตรฯ ด้านภัยแล้งปี 59-60 ในโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้เริ่มมียทบาทและคุ้นเคยในการทำงานการเกษตร

“ขอให้มั่นใจว่าทั้ง 3 คน จะเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังตรวจสอบได้แน่นอน ส่วนทำงาน 3 เดือนแรกจะทำงานร่วมกับข้าราชการทั้งหมด 14 กรม และจะเห็นผลว่ามีอะไรที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งถ้านโยบายอะไรที่มันไม่ดีหรือมีข้อด้อย ก็จะนำไปปรับปรุงแก้ไขโดยรับฟังเสียงจากประชาชนด้วย ผมจะไม่รื้อของนโยบายเก่า เพราะไม่งั้นเปลี่ยนรมว.ทีก็เปลี่ยนนโยบายที และจะรายงานผลการทำงานทุก 3 เดือน”

ขณะที่เรื่องราคายางตกต่ำนั้นไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อหรือผู้ขายเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตลาดทุนด้วยเพราะยางพารามีการซื้อขายล่วงหน้า ถ้าตนกำหนดราคาทันทีก็อาจมีผลกระทบต่อกลไกตลาด ส่วนเรื่องการสอบข้อเท็จจริง นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย จะเรียกเรื่องทั้งหมดมาดูตามขั้นตอนว่าเป็นยังไง ก่อนจะดูผลว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง

สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ซึ่งขณะนี้ไทยยังคงสถานะใบเหลืองอยู่ ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และตนได้เรียกดูข้อเรียกร้องจากชาวประมง เพื่อจะมาดูว่ามาตรการใดทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งหากมาตรการใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯโดยตรงตนก็จะดำเนินทันทีตามข้อเรียกร้องพี่น้องชาวประมงทันที