ASF ดันหมูไทยแพงทะลุโลก ราคาขึ้นรายวัน-วัคซีนเถื่อนระบาด

หมูไทยแพงสุดในโลก ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มพุ่งไม่หยุด 110 บาท/กก. สวนทางพาณิชย์ขอตรึงราคา แซงราคาหมูจีน-เวียดนาม-สหรัฐ ส่งผลหมูเนื้อแดงขยับขึ้นถึง 240 บาท/กก. “ไบโอไทย” จี้รัฐลดค่าครองชีพ ชี้การเลี้ยงหมูต้องใช้เวลา 2 ปีถึงจะฟื้นตัวจากโรค ASF จับตานำเข้าหมูเข้าล็อกใครเกิดปรากฏการณ์ “หมูเย็น” ในสต๊อกห้องเย็นต่างประเทศลักลอบกลับเข้ามาขายใหม่ เตือนมีการหลอกขายวัคซีนเถื่อน ASF ซ้ำเติมผู้เลี้ยงหมู

วิกฤตโรคระบาดร้ายแรง “แอฟริกันในหมู-ASF” ยังคงบานปลายต่อเนื่อง แม้กรมปศุสัตว์จะออกมา “ยอมรับ” ว่า ตรวจพบเชื้อ ASF ในโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากปล่อยให้มีสถานการณ์การระบาดของโรค “อึมครึม” มาไม่น้อยกว่า 2 ปี ท่ามกลางซากหมูที่ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงจากฟาร์มทั่วประเทศ แต่มาตรการควบคุมโรค ASF ของกรมปศุสัตว์ก็ยังสร้างความสงสัยต่อไป เหตุยังไม่มีรายงานการระบาดในพื้นที่อื่น ๆ เข้ามา จึงนำไปสู่การประกาศเขตพื้นที่การระบาดในรัศมี 5 กม.รอบจุดที่พบเท่านั้น ก่อนที่กรมปศุสัตว์จำยอมต้องรายงานการตรวจพบโรค ASF ไปที่องค์การโรคระบาดสัตว์โลก (OIE) หลังจากที่หน่วยงานดังกล่าวส่งคำถามมายังกรมโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีรายงานการระบาดของโรค ASF ในพื้นที่อื่น ๆ อย่างเป็นทางการเข้ามา แต่อุตสาหกรรมหมูในประเทศก็ตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน เนื่องจากปริมาณหมูในระบบหายไปกว่า 50% ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงในประเทศประกาศปรับราคาขึ้นมาอีกรอบจาก 230 บาท เป็น 240 บาท/กก. ก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเชื่อกันว่าราคาหมูเนื้อแดงจะพีกสุด หรือใกล้ ๆ กับ 300 บาท/กก. สวนทางกับมาตรการขอความร่วมมือในการตรึงราคาหมูของกระทรวงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิง

หมูไทยแพงที่สุดในโลก

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวผ่านการสัมมนาในคลับเฮาส์หัวข้อ “หมูแพง-ค่าแรงสามร้อย” สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาว่า ปัญหาค่าครองชีพของประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ วันนี้สถานการณ์ราคาหมูในประเทศไทยนั้น “น่าจะเเพงที่สุดในโลกแล้ว” โดยราคาหน้าฟาร์มของหมูไทยอยู่ที่ 110 บาท/กก. เทียบกับราคาประเทศผู้ผลิตหมูต่างประเทศ เช่น สหรัฐ 33 บาท/กก., ยุโรปอยู่ระหว่าง 40-50 บาท/กก. นอกจากนี้ หมูไทยยัง “แพงกว่า” หมูเวียดนามที่อยู่ที่ราคา 60-76 บาท/กก. และจีน 89 บาท/กก. ขณะที่ค่าแรงไทยกลับได้รับเฉลี่ยวันละ 300 บาทเท่านั้น

“ราคาหมูที่แพงขึ้นมาจากปริมาณหมูที่หายไป การปกปิดข่าวทำให้การแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงเป็นไปอย่างยากลำบาก และในช่วงโควิด-19 ประเทศไทยมีการส่งออกไปมหาศาล ประมาณ 2.7 ล้านตัว ในปี 2563 อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เท่าที่ทราบข้อมูลช่วงที่จีนเกิดโรคระบาด ราคาหมูเเพงเกือบทั้งปี และต้องใช้เวลากว่า 18 เดือน ราคาหมูจึงลดลง โดยวิธีการของจีนก็คือ ประกาศพบการระบาดของโรคในทันที และได้เร่งรัดจัดการอย่างเป็นระบบตามมา จึงทำให้จีนลดความสูญเสียได้อย่างรวดเร็ว ส่วนความเสียหายที่รัฐบาลไทยประเมินว่า เสียหาย 100,000 ล้านบาท เฉพาะภาคการผลิต แต่หากมองภาพรวมจากฐานเดียวกับจีน เราจะพบว่าเมื่อหมูราคาแพงก็จะดึงสินค้าอื่นแพงขึ้นเท่าตัว 150% เช่น เนื้อไก่แพง 34% เนื้อวัว 20% ผู้บริโภคไทยจะต้องมีภาระการซื้อหมูเพิ่มจาก 200,000 ล้าน เป็น 500,000 ล้านต่อปี หรือภาพรวมการซื้อเนื้อสัตว์ของไทยจะเพิ่ม 370,000 ล้านบาท”

ซัดบอร์ดหมูไม่ช่วยประชาชน

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การจะเเก้ปัญหาหมูแพงให้เร็วที่สุดด้วยวิธีการนำเข้าหมูนั้น ขอให้จับตาบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่ไปซื้อกิจการบริษัทยักษ์ใหญ่แคนาดา หากไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ในอนาคตก็จะยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อย

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า มาตรการระยะสั้นหากต้องนำเข้าหมู ควรต้องกำหนดว่า หมูนำเข้าจะต้องไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง และทางคณะกรรมการพิกบอร์ด (Pig Board) ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทน้อยมากในการรักษาผลประโยชน์ประชาชน จะต้องเร่งหามาตรการลดผลกระทบให้ได้ภายใน 6 เดือน ไม่ควรกระทบระยะยาวถึง 18 เดือน โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงหมูหลุม การสนับสนุนการบริโภคโปรตีนชนิดอื่น

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวว่า ช่วงที่เกิดการระบาดของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านมา ทำให้ต้องนำเข้าหมูจากไทยมากขึ้น ตอนนั้นจึงเป็น “โอกาสทอง” ของฟาร์มหมูขนาดใหญ่มีการส่งออกหมูมีชีวิตและในรูปเนื้อหมูด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่เกิดการระบาดช้า แต่ 5 เดือนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ ทุกคนทราบ แต่ “ไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ดีพอ” ทำให้เดือนธันวาคม “เอาไม่อยู่”

เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่ามีหมูหายไปจากระบบ 20% กว่าจะกลับมาปกติก็ใช้เวลา 18 เดือน หรือปีกว่า และต้องรอดูว่าจะควบคุมการระบาดของโรค ASF ได้หรือไม่ด้วย ตอนนี้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหายไปเหลือ 46% ประมาณ 200,000 ราย หลังจากนี้ก็น่าจะหายไปอีกเยอะมาก

เช่นเดียวกับ นายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN ประเมินว่า จะใช้เวลาถึง 30 เดือน หรือ 2 ปีกว่าที่จะฟื้นการเลี้ยงหมูทั้งระบบกลับมาได้เหมือนเดิม ตอนนี้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย 80-90% “ไปไม่รอดแล้ว” ที่ผ่านมามีการประชุมมาตั้งแต่ปี 2561 แต่วิธีการเตรียมความพร้อมการตั้งรับ ทั้งวิธีการตรวจเจอล่าช้า ไม่มีการชดเชยทั้งที่เตรียมเงินไว้ 1,426 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรต้องหาทางออกด้วยการขายหมูที่เสี่ยงว่า “จะติดโรค” เป็นเหตุให้เชื้อระบาดไวขึ้น

“ฟาร์มหมูในเขตราชบุรีเสียหายเกินกว่า 2 ล้านตัว แต่ผมแปลกใจว่า ทำไมปศุสัตว์ถึงไม่รู้ คนในวงการรู้กันมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ผมขอตั้งข้อสังเกต-ข้อสงสัยว่า การไม่ประกาศโรคระบาดจะทำให้ส่งออกอย่างอื่นไปได้หรือเปล่า ส่วนราคาต้นทุนหมู 80 บาท/กก. พอเข้าปี 2562 ระบบการเคลื่อนย้าย ต้นทุนต่าง ๆ ราคาขึ้น ค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์อีก ที่สำคัญก่อนเกิดโควิด-19 ที่คิดว่าราคาตกลงแน่ ๆ ปรากฏว่าราคาหมูกลับพุ่งขึ้นมา เพราะหมูถูกส่งไปจีนและเวียดนามเป็นหลัก”

สั่งเช็กสต๊อกหมูทั่วประเทศ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงกำหนดมาตรการ “ห้ามส่งออกหมู” ขณะนี้ได้มอบให้กรมการค้าภายในเช็กสต๊อกหมูทั้งระบบ คาดว่าใน 1-2 วันจะรู้ข้อมูลว่า ปริมาณหมูในประเทศทั้งหมดมีหมูเป็นและหมูชำแหละเท่าไร พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการตรึงราคาจำหน่ายหมูและไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เร่งจัดทำพาณิชย์ลดราคาหมู จำหน่ายทั่วประเทศ 667 จุด ในราคา 150 บาทต่อ กก. ถึง 31 มกราคม 2565

“การห้ามส่งออกหมูจะทำให้มีหมูเพิ่มเข้ามาในระบบได้ 1 ล้านตัวต่อปี แต่ขณะเดียวกันได้หารือกรมปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงหมูให้เข้าระบบมากขึ้น โดยจะเร่งผลิตลูกหมูเข้าระบบ 300,000 ตัวต่อสัปดาห์ ทั้งยังมีการจัดหาโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยด้วย”

ล่าสุดมีรายงานจากนางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เข้ามาว่า ขณะนี้ฮ่องกงยังไม่ได้ประกาศห้ามนำเข้าหมูจากไทย แต่ด้วยเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางฮ่องกงจึงได้ออกมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารหลังเวลา 18.00 น. และยังคงปิดสถานบันเทิงต่าง ๆ ประกอบกับตอนนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการบริโภคหมูในฮ่องกงเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มราคาหมูและราคาอาหารในฮ่องกงจะปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยส่งออกเนื้อหมูแช่เย็น-แช่แข็งไปฮ่องกงมากขึ้น ตั้งแต่ช่วง 2562-2563 หลังจากจีนเจอปัญหาโรคอหิวาต์หมู (ASF) ระบาด ส่งผลให้ผู้นำเข้าฮ่องกงจึงหันมานำเข้าหมูไทยแทน ปัจจุบันฮ่องกงถือเป็นตลาดส่งออกหมูอันดับ 1 คิดเป็น 93% ของการส่งออกหมูไทยทั้งหมด โดยราคาจำหน่ายหมูชำแหละและหมูสับของไทยในตลาดฮ่องกง มีตั้งแต่ราคา 455-560 บาท/กิโลกรัม ส่วนหมูจากจีนจำหน่าย 215-516 บาท/กิโลกรัม

ด้านนางสาวพรรณกาญจน์ เจียมสุชน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ทางสำนักงานก็อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังจากที่เวียดนามสั่งระงับการนำเข้าหมูมีชีวิตไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มในเวียดนาม ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 69-76 บาท

หลอกขายวัคซีนโรค ASF

นอกจากการระบาดของโรค ASF กับความพยายามที่จะควบคุมโรคของกรมปศุสตว์แล้ว มีรายงานจากวงการเลี้ยงและค้าสุกรภาคใต้เข้ามาว่า ขณะนี้มีหมูชำแหละของไทยที่เคยส่งออกไปสต๊อกแช่ไว้ในห้องเย็นที่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หรือที่วงการค้าหมูเรียกกันว่า “หมูเย็น” กำลังไหลย้อนกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกรอบ โดยไหลเข้ามาประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564 ก่อนเทศกาลปีใหม่ ซึ่งขณะนั้นขายได้ราคากว่า 100 บาท/กก. ส่วนราคาส่งออกอยู่ประมาณ 33 บาท/กก.

“ที่ผ่านมามีการส่งออกหมูทางภาคใต้เฉลี่ยประมาณ 5 คัน/สัปดาห์ ขนาดรถบรรทุกจุ 120-130 ตัว/คัน หรือไม่ต่ำกว่า 65 ตัน หรือ 65,000 กก. ขณะนั้นหมูราคาอยู่ประมาณ 33 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.1 ล้านบาท หากเทียบกับเวลาราคาหมูช่วงนี้ 200 กว่าบาท/กก. จะพบว่าราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว”

ด้านแหล่งข่าวในวงการขายยาสัตว์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ทำไมจึงมีการระบาดของโรค ASF เฉพาะที่จังหวัดนครปฐม เหตุใดโรค ASF จึงยังไม่ระบาดในประเทศไทยทั้งประเทศ โดยก่อนหน้านี้ได้มีกลุ่มสัตวแพทย์ ได้มีการนำวัคซีน ASF ที่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาไปให้บริษัทขายยาและเวชภัณฑ์ประมาณ 4-5 ราย นำไปจำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ซื้อไปใช้ แต่กลับส่งผลให้หมูในฟาร์มตายเพิ่มขึ้นไปอีก จนผู้เลี้ยงออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นการหลอกขายวัคซีน ไม่ใช่การทดลองวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF อย่างที่กล่าวอ้าง

บิ๊กตู่เรียกพบด่วนอธิบดีปศุสัตว์

ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบเพื่อติดตามการแก้ปัญหาโรคระบาดในหมู หลังจากที่มีการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมูด้วยการเร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ASF ให้บริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม เร่งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภค และใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออกให้ศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และการจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ และยังแนะให้จัดตั้งวอร์รูมหมู เพื่อชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวันด้วย