วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา แก้โจทย์ใหญ่ “ราคาอาหาร” ขาขึ้น

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สัมภาษณ์พิเศษ

ปีนี้ไทยมุ่งหวังที่จะรักษาการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งออกอาหารให้ได้ 8.4% หรือมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท จากปี 2564 ที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การตรวจสอบการส่งออกเข้มข้น ต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นทุกด้าน การรักษาการเติบโตของอุตสาหกรรมจะฝ่าแรงต้านเหล่านี้ได้อย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงทิศทางอุตสาหกรรมท่ามกลางความท้าทายว่า

5 หมื่นโรงงานอาหารปรับตัว

ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารของไทยมี 50,000-60,000 โรงงาน เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม 80-90% และขนาดใหญ่กว่า 10-15% แต่หากคิดเป็นกำลังการผลิตรายใหญ่จะผลิตสัดส่วนมากกว่า 80% โดยโครงสร้างการผลิตมีทั้งอาหารทั่วไป และอาหารนวัตกรรม ช่วงหลังอาหารที่มีนวัตกรรมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป มีการเติบโตให้เห็น

“อย่างก่อนหน้านี้เราทำข้าวขาวเป็นสัดส่วนเยอะ แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่ปรับว่าควรมาเพิ่มข้าวที่มีคุณภาพสูง เรามาถึงจุดนี้ที่ถอยหลังไปไม่ได้ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ย ยา แรงงาน เราสูงกว่าเพื่อนบ้านหมด จะแข่งขันเรื่องของราคาเป็นไปไม่ได้แล้ว”

ความท้าทายอุตฯอาหาร

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารปัจจุบัน เกิดจากความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของตลาดโลก นอกจากความไม่นิ่งของสถานการณ์โควิดที่ยังไม่จบ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เรื่องที่ 2 คือ สิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงนี้ แม้ว่าเราจะมีเวลา 30-40 ปี ในการเลิกปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2065

แต่ว่าเมื่อมีนโยบายเหล่านี้ออกมา ประเทศต่าง ๆ จะพยายามจำกัดการนำเข้า หามาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้การส่งออกสินค้ายากขึ้น เพราะเขาเองก็เจอปัญหาเศรษฐกิจด้วย ต้องดูแลในเรื่องของดุลการค้าด้วยเช่นกัน นี่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า กฎเกณฑ์ กฎระเบียบต่าง ๆ จะผิดระเบียบ WTO หรือไม่ และเราจะสามารถเจรจาได้อย่างไร

ยกตัวอย่างเรื่อง traceability (การตรวจสอบย้อนกลับน่าจะสูงสุด) แม้ว่าจะยังไม่ประกาศชัดเรื่องที่มาของอาหาร แต่คงไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่มีเรื่องความปลอดภัย เช่น หมู ไก่ วิธีเลี้ยงเป็นอย่างไร ตรวจสอบเชื้อโรคเป็นอย่างไร

ช่วงนี้ที่ออกมาเยอะ คือ “วิธีการส่งสินค้า” ไปยังประเทศต่าง ๆ ต้องขึ้นทะเบียน เช่น จีน ทุกสินค้าต้องขึ้นทะเบียนในระบบออนไลน์ การวางระบบการตรวจสอบ zero COVID 100% อินเดียก็ออกกฎคล้ายกัน จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนแล้ว นี่เป็นวิธีการเริ่มเปลี่ยนไป ยังไม่นับรวมเรื่องมาตรฐานเฉพาะประเทศที่มีมานานแล้ว นอกจากพื้นฐานต้อง GMP ขยับขึ้นมามี HACCP และยังมีอีกประเทศที่พัฒนา เช่น อังกฤษ ต้องมี BRC (บริติช รีเทล คอนซอร์เตี้ยม) ของสมาคมค้าปลีกอังกฤษ เป็นต้น

ต้นทุนพุ่งทุกด้าน

“ปีนี้เหนื่อยหนักเพราะต้นทุนมาทุกด้าน ต้นทุนเรื่องมาตรฐานเป็นเรื่องของพื้นฐานที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการ และเรายังต้องมีต้นทุนด้านอื่นที่เพิ่มเข้ามาตลอด ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็ชัดเจนแล้วว่าต้นทุนพื้นฐานการขนส่งเพิ่มขึ้น กว่าจะส่งสินค้าไปถึงปลายทางถ้าเฟรตปรับเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันขยับขึ้นเป็นผลของต้นทุนในแง่ของพลังงานทุกด้านที่ทยอยเข้ามา ทำให้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามมา อาหารสำเร็จรูปจะใช้กระป๋อง กล่อง ฉลากสินค้าที่เป็นกระดาษ ทุกอย่างขึ้นมาหมดเลย กระป๋องหนักสุดเพราะขึ้นมาจากเหล็กที่ขึ้นมาจากทั่วโลก”

ต้นทุนเรื่องพลังงานเป็นพื้นฐานที่ทำให้ทุกอย่างเพิ่มขึ้นหมดเลย และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนที่ทำให้เพิ่มขึ้นที่ผิดจากปกติ คือ ต้นทุนจากโควิด เช่น การทำ factory sandbox การฉีดวัคซีน

“ต้นทุนการได้มาซึ่งแรงงาน เพาะอุตสาหกรรมอาหารจำนวนไม่น้อยที่ต้องการแรงงานต่างด้าว ซึ่งการขึ้นทะเบียนแรงงานแพงมาก ก็ยังหาทางออกไม่เจอ ถ้านำแรงงานเข้ามาใหม่ต้องมีการกักตัว ต้นทุนก็เป็นของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่ถ้าไม่ยอมรับคอสต์ที่เพิ่มขึ้นก็จะไม่มีแรงงานใช้ในอุตสาหกรรม ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs เมื่อมีการรับแรงงานเข้ามาคือแรงงานมาทำงานอยู่ระยะสั้น 1-2 เดือน ก็ลาออกไปแล้ว ซ้ำยังมีต้นทุนที่ต้องหาแรงงานใหม่อีกด้วย”

“ต้นทุนจะขยับขึ้นเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะยังมีปัจจัยอื่น เช่น วัตถุดิบก็ขยับขึ้น ปศุสัตว์ก็เพิ่มขึ้นจากเรื่องการดูแลเรื่องโรคต่าง ๆ วัคซีน ยาฆ่าเชื้อ พวกอาหารทะเลที่นำเข้าก็มีในเรื่องของต้นทุน ในเรื่องการนำเข้าพืชผักก็เจอปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ทำให้ปริมาณผลผลิตน้อย และไม่พอกับความต้องการ ระดับราคาก็ปรับเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ต้นทุนเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ปรับขึ้นทุกด้าน โดยเหล็กหนักสุด กรมการค้าต่างประเทศตั้งภาษีเอดีเรียบร้อย แม้ว่าตอนนี้ผ่อนผันให้ 6 เดือน แต่พอตั้งกฎหมายแล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการยกเลิกได้จะดีที่สุด เพราะการตั้งเอดีมีประโยชน์กับ 2 กิจการในประเทศไทยก็จริง แต่ทั้ง 2 รายนั้นมีกำลังการผลิตมีเพียง 50% อีก 50% ก็ยังต้องนำเข้าอยู่ดี ก็จะเป็นเรื่องของต้นทุนในระยะยาว

“หากเทียบกันปัจจัยเรื่องต้นทุนน่ากลัวที่สุด ส่วนเรื่องการตรวจสอบเข้มงวดขึ้น เราเจอมาโดยตลอดอยู่แล้ว ที่ผ่านมามี 20 ขั้นตอน ปีนี้เพิ่มมาอีก 5 ขั้นตอน สัดส่วนอาจจะ 5-10% เรื่องนี้ผู้ประกอบการรายเก่าทำได้ แต่รายใหม่ที่จะเข้ามาใหม่จะลำบาก เพราะมาถึงต้องกระโดดไป 25 ขั้นตอนเลย จะทำให้โอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามายากขึ้น คนที่จะเข้ามาได้ก็จะต้องมีความพร้อมทุกด้านจริง”

ทิศทางราคาอาหารขาขึ้น

คิดว่าในระยะสั้นยังอยู่ในขาขึ้น เพราะว่าการแข่งขันยังไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ จากต้นทางยังติดขัดหลายอย่าง สถานการณ์ COVID ทำให้สถานการณ์ติดขัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงาน ดินฟ้าอากาศทั้งแล้ง-น้ำท่วม และต้นทุนหลายอย่างที่ยังต้องนำเข้า เช่น ปุ๋ย พืช หรืออาหารทะเล

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรามีปัญหา ปกติไทยใช้วัตถุดิบในประเทศ 75% นำเข้า 25% แต่วัตถุดิบนำเข้าเป็นต้นทุนหลักในบางอุตสาหกรรม เช่น ปลากระป๋องต้องนำเข้ามาเกือบ 100% อาหารสัตว์ต้องนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง เพราะประเทศไทยปลูกไม่พอ

“เรื่องราคาอาหารเราคาดหวังว่าอยากให้เป็นช่วงสั้น เพราะความจริงอุตสาหกรรมอาหารไม่ได้คาดหวังจะขึ้นราคาสูงมาก ๆ สุดท้ายจะเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะไปแข่งขันกับตลาดโลกไม่ได้ หากประเทศอื่นที่สามารถทำให้ต้นทุนถูกกว่าจะแข่งขันลำบาก เมื่อราคาน้ำมันลดลง สินค้าก็จะค่อย ๆ ขยับลง และแรงงาน หากกลับมาทำงานปกติ สภาพการแข่งขันก็จะกลับเข้ามาระดับราคาต่าง ๆ ก็จะขยับลงมาตามกลไกของตลาด”

เสริมแกร่งไทยครัวโลก

ข้อแรกต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นฐานการผลิตพื้นฐานเดิม ๆ ไม่ใช่เลิกไป แต่ต้องมีตัวใหม่ ๆ หรือขยับเรื่องนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่า สินค้าต้องปรับเปลี่ยนไปในเชิงของคุณภาพมากขึ้น หรือไปในเชิงที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้น คือ ต้องเน้นเรื่องคุณภาพ เรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆต้องมีวิธีการสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงได้

ส่วนรายใหญ่ลงทุนทำแล้ว เขารอไม่ได้แม้ว่าการลงทุนสูง แต่ปัจจุบันด้วยความที่ไม่มีแรงงาน เขาจึงต้องลงทุนไปเลยดีกว่าต้องหยุดกิจการ โควิดเป็นตัวเร่ง รายใหญ่สามารถระดมทุนได้ และนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาช่วยอำนวยความสะดวกเลือกการขึ้นทะเบียน เรามี infrastructure ที่ดี อาจต้องสร้างแรงจูงใจบ้าง ซึ่งมันคือการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างโอกาสมหาศาลให้ประเทศ

นอกจากนี้ สินค้าที่ได้รับผลกระทบชัด ๆ จากผลกระทบที่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สับปะรดเราเสียตลาดให้ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ภาษียังเป็นตัวกำหนด เราต้องใช้เวลานานกว่าจะตลาดน้ำสับปะรดไป EU ดึงกลับมาได้

“ถ้าเราไม่มีตัวช่วยในเรื่องของภาษี การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) การแข่งขันของไทยก็อาจจะเหนื่อย ตอนนี้หวังว่าการเตรียมพร้อมเรื่อง CPTPP จะได้ข้อสรุป และต้องมีการเยียวยาผู้ที่แข่งขันไม่ได้ต้องมีกองทุนเอฟทีเอมาช่วย แต่หากเราไม่มีการปรับตัวก็จะต้องเจอเรื่องนี้ในกรอบอื่น ๆ เนื่องจากจะเริ่มเป็นกติกาโลกเข้าไปทุกที ซึ่งในระหว่างนี้ไทยต้องใช้ประโยชน์ความตกลงอาร์เซปให้ได้มากที่สุดไปก่อน”