เหมืองทองอัครา อนุญาโตตุลาการเลื่อนตัดสินคดี

เลื่อนตัดสินเหมืองทองอัครา

อนุญาโตตุลาการเลื่อนชี้ขาดคดีเหมืองทองอัครา เปิดทาง 2 ฝ่ายเจรจา โดยทางอัคราจะกลับมาประกอบธุรกิจอีกครั้ง 

วันที่ 31 มกราคม 2565 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งออสเตรเลียว่า คดีพิพาทระหว่างบริษัทกับประเทศไทยกรณีไม่ปฏิบัติตามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จะเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปก่อน เพื่อเปิดให้ 2 ฝ่ายได้เจรจาทำความตกลงกัน

ในรอบปีที่ผ่านมา ไทยได้ต่อใบอนุญาตกับอัคราหลายกรณี อาทิ ในเดือนธันวาคม 2564 ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทอง (อายุ 10 ปี) จำนวน 4 แปลงในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยประทานบัตร เลขที่ 26910/15365, ประทานบัตร เลขที่ 26911/15366, ประทานบัตร เลขที่ 26912/15367 และประทานบัตร เลขที่ 25528/14714 และในเดือนมกราคม 2565 ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม (อายุ 5 ปี)

คิงส์เกตฯระบุด้วยว่า การต่อใบอนุญาตดังกล่าว “จะทำให้เหมืองทองชาตรีกลับมาเปิดอีกครั้ง”

เลื่อนไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการเจรจาขอเลื่อนการออกคำชี้ขาดคดีข้อพิพาทฯ ออกไปก่อน ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ จะมีการเจรจาอีกครั้งว่า จะเลื่อนออกไปอีกระยะเวลาเท่าไร คาดว่าไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาการเจรจารายละเอียดที่เหลือร่วมกันให้เรียบร้อย

“คาดว่า การเลื่อนการเจรจาครั้งนี้ออกไปอีกครั้ง ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาเจรจารายละเอียดที่เหลือร่วมกัน เชื่อว่าจะตกลงกันได้ด้วยดี และถ้าตกลงกันได้แล้ว เรื่องการฟ้องร้องก็น่าจะจบลงด้วยดีเช่นกัน เพราะไม่มีอะไรที่เป็นประเด็นร่วมกันอีก”

“วิษณุ” ปัดแลกผลประโยชน์

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปไม่มีกำหนด ว่า ตนไม่ทราบข่าวดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบคือเรื่องที่เขาจะกลับมาเปิดเหมืองแร่ในประเทศไทย เพราะมีการดีลกันอยู่แล้วกับกระทรวงอุตสาหกรรม และเขายินยอมที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ทุกประการ ซึ่งตรงนั้นไม่มีปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด หากมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถยื่นคำขอเข้ามาได้

โดยคณะกรรมการจะอนุญาตหรือไม่นั้นต้องดูหลายข้อประกอบกัน เช่น สิ่งแวดล้อม มวลชน ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ หากปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านั้นได้เขาก็มีสิทธิยื่นขอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า​ มีกระแสข่าวที่ว่าประเทศไทยนำเรื่องการเปิดเหมืองแร่ไปแลกกับการถอนเรื่องจากอนุญาโตตุลาการนั้น มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องการต่อรองเจรจาอะไรกัน เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการ แต่การเจรจาเรื่องขอเปิดเหมืองนั้นมีมาตั้งแต่ต้น  เพราะเราไม่ได้ปิดเหมืองแร่ อนุญาตให้เขา เพียงแต่ยังไม่ได้ต่อใบอนุญาตให้เขา เพื่อที่จะได้รับทุกอย่างเอาไว้เพื่อรอ พ.ร.บ.แร่ให้มีออกมา

และเมื่อมี พ.ร.บ.แร่ออกมาแล้ว ก็จะได้เชิญเขากลับมา แล้วดำเนินการตามขั้นตอน ถ้าใครเข้าก็เข้า แต่ถ้าใครไม่เข้า ก็ตกไป เรื่องการขอประทานบัตรหรือไม่นั้น แสดงว่าเขาจะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยทุกประการ ซึ่งเมื่อไปถึงจุดที่ยุติแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องชี้แจงได้ แต่วันนี้ยังไม่มีการรายงานใด ๆ ให้คณะรัฐมนตรีทราบ แต่อาจจะมีการรายงานเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ก็เป็นได้

เมื่อถามว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในกรณีให้ประทานบัตรแก่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือไม่  นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไรต้องชี้แจง เมื่อถามย้ำว่ามีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการสอดไส้แลกประโยชน์ต่อกัน  นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ถ้ามีจริงอย่างนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องชี้แจง และในที่สุดก็ต้องตรวจสอบได้อยู่ดี