‘GPSC’ ทัพหน้าไฟฟ้า ปตท. เพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียน 12 GWh

หากได้ไปเยี่ยมชม “EV-verse” ที่บูท บมจ.ปตท. จัดแสดงในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 เมื่อเร็ว ๆ นี้ คงตื่นตาไม่น้อยกับการนำผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทในเครือ รับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า

ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีด้านอีวี ส่วนหนึ่งมาจาก “บริษัท นูออโว พลัส” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC หัวหอกธุรกิจแบตเตอรี่อีวีของ ปตท.

ปั้นพอร์ตพลังงานอนาคต

ย้อนกลับไปเมื่อต้น ๆ ปี 2565 กลุ่ม ปตท.ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยวางกรอบงบประมาณลงทุน 5 ปี (2565-2569) ที่ 944,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนธุรกิจไฟฟ้า 4%

มุ่งรุกสู่พลังงานอนาคต “future energy” ทั้งธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า โดยผ่านบริษัท GPSC เป็นแกนหลัก เป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 12 จิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

เพิ่มพอร์ต “พลังงานหมุนเวียน”

GPSC เป็นน้องใหม่ที่ตั้งมามีอายุเพียง 7-8 ปี เป็นแฟลกชิปด้านนี้ ซึ่ง ปตท.ถือหุ้น 55% แต่การทำงาน GPSC เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในเวทีสัมมนา Energy Move หัวข้อ Renewable Energy Transition

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “นางรสยา เธียรวรรณ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ GPSC อัพเดตภารกิจการขยายพอร์ตโฟลิโอไฟฟ้า ปตท.ว่า เมื่อปีที่ผ่านมาได้เพิ่มพอร์ตโฟลิโอของพลังงานหมุนเวียน (renewable) เพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน มีเป้าหมายว่า ปี 2023 จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 37% (กราฟิก)

“เรามองว่าการเติบโตในด้านรีนิวฯในประเทศไทยอาจจะไม่เร็วเพียงพอ จึงได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น ตามแผนของบริษัทแม่โดยได้ไปเข้าซื้อโครงการในไต้หวัน และอินเดีย”

ลุย “อินเดีย-ไต้หวัน”

สำหรับโครงการ Avaada Energy Private Limited (AEPL) ในอินเดีย GPSC ถือหุ้นสัดส่วน 41.6% ตอนนี้ขยายไปเกือบ 43% แล้ว ทำให้มีกำลังการผลิต 4,608 MW และจะมีกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มขึ้น 1,917 MW เป้าหมายโครงการนี้มีถึง 11 GWh ในอีก 2-3 ปี เป้าหมายเราก็อยากได้มาอยู่ในพอร์ตของเรา

เพราะอินเดียมีนโยบายส่งเสริมเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างมาก โดยปัจจุบันมี 100 จิกะวัตต์ และยังต้องการขยายปีนี้ถึงปีหน้าอีก 30 GWh จุดเด่นสำคัญคือ อินเดียค่าคอนซัมป์ชั่นถูก มีที่ดินจำนวนมาก และค่าแสงดี จึงน่าจะเป็นโอกาส

ขณะที่ “ไต้หวัน” ก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทาง GPSC เข้าไปจอยต์กับพาร์ตเนอร์ ประมาณ 25% (อยู่ระหว่างการปิดดีล) ทั้งยังขยายเข้าไปทำโซลาร์ เพราะค่าแสงดีและสัญญาดี

ผุดรง.แบตเตอรี่ 2 ประเทศ

ในส่วนของการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่นั้น ทาง GPSC ได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพหนึ่ง 24M ผลิตเซมิโซลิดแบตเตอรี่ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ลดต้นทุนได้ และสามารถรีไซเคิลได้ด้วย

“ไพลอตแพลนต์ที่มาบตาพุดเสร็จแล้ว ตอนนี้กำลังแรปอัพโปรดักต์ประมาณ 30 MW ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำสินค้าไป certified เป็น LFP เพื่อรองรับรถบัสไฟฟ้าเรือไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เป็นความภูมิใจว่าโฟลคสวาเกน กับ 24M จะต่อยอดไปใช้ในรถยนต์”

ขณะเดียวกัน GPSC ร่วมลงทุนใน โครงการ AXXIVA กับพันธมิตรในตลาดอีวีจีนรายหนึ่ง กำลังก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่เพื่อรองรับรถของพาร์ตเนอร์ คาดว่าจะเสร็จปี 2023

ส่องแนวโน้ม “ไฮโดรเจน”

ในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายจะลด NET ZERO Ambition ร่วมกับ ปตท. โดยกำลังศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจน มุ่งเน้นไปที่กรีนไฮโดรเจนเพื่อใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ตั้งเป้าว่าจะลดคาร์บอนให้ได้ 10% ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 35% ในปี 2030