กกร. ขอรัฐตรึงราคาดีเซล 3 เดือน-ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ประคองธุรกิจ

ราคาน้ำมัน เติมน้ำมัน

ภาคเอกชน จี้รัฐแก้เศรษฐกิจจริงจังประคองภาคธุรกิจ-ช่วยค่าครองชีพประชาชน คาดเงินเฟ้อพุ่งแตะ 3.5-5.5% เร่งมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ พร้อมเดินหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 5

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมีนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม

ซึ่งการประชุมดังกล่าวทางภาคเอกชนมองว่าเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ SMEs และประชาชน ในช่วงไตรมาส 2 -3 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วนดังนี้ 1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ด้วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ,ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ,ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ,เพิ่มโควตานำเข้า ,เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ

2. การกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ,ขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ,ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง
,การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ย ปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า

ส่วนการเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

ทั้งนี้ กกร. ได้ประเมินภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ว่ายังคงมีความอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เป็นความท้าทายต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2565 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยล่าสุด Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นมากสุดในคราวเดียวในรอบ 22 ปี และจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึง 2.50%-2.75% ณ สิ้นปี

นอกจากนี้ จีนยังใช้มาตรการ Zero COVID Policy ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว และกดดันให้ปัญหาซัพพลายเชนยิ่งตึงตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 ลดลงมาจาก 4.4% เหลือ 3.6% ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุน ให้มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิม

ที่ประชุม กกร. จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2565 ไว้ที่ 2.5%- 4.0% การส่งออกขยายตัวได้ในกรอบ 3-5% อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบ 3.5-5.5%

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงาน ในแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด โดยการปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้

กกร.จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน