ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลว่าสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปลายเดือนนี้

ราคาน้ำมันดิบร่วง
REUTERS/Fabian Bimmer

ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลต่อเนื่องว่าสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในปลายเดือนนี้

วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับลด เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงและกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าที่ขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันลดลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น เนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบจะมีราคาแพงขึ้น

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 14 ก.ค. อยู่ที่ 95.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.52 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 99.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐ

ยุโรปส่งสัญญาณความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับลดลง โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 2.6% ซึ่งลดจากคาดการณ์ในเดือน พ.ค. ที่ 2.7% ในขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็น 7.6% ในขณะเดียวกันการล็อกดาวน์ในเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ก็ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันชะลอตัวลงเช่นกัน โดยการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน มิ.ย. ลดลงกว่า 19% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 61

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐจะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในวันศุกร์นี้ เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กำลังการผลิตสำรองของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) เหลือเพียงเล็กน้อยแล้ว เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ผลิตน้ำมันเต็มศักยภาพการผลิตสูงสุดแล้ว

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น 5.83 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 224.94 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงสุดในรอบสองเดือน อีกทั้งอุปสงค์น้ำมันเบนซินที่ปรับลดลง โดยเฉพาะที่เวียดนามที่นำเข้าน้ำมันเบนซินลดลงกว่า 55.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินที่อยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปรับลดลง ในขณะที่เกาหลีใต้และอินเดียมีการส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้น