ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ ฟื้น 6 เดือนแรกปี‘65 จัดตั้งใหม่เพิ่มกว่า 41%

ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ ฟื้น 6 เดือนแรกปี ‘65 จัดตั้งใหม่เพิ่มกว่า 41%

ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด 6 เดือนแรก ปี 2565 จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นกว่า 41% รองรับวิกฤตพลังงาน เปลี่ยนรถให้เช่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มากขึ้น

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2564 ธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ขณะที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ ลง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทุกภาคส่วนส่งสัญญาณการฟื้นตัวและกลับมาคึกคักอีกครั้ง

หนึ่งในธุรกิจที่ฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 อย่างชัดเจน คือ ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดย 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2565 มีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 40.74% (มกราคม-มิถุนายน 2564 จัดตั้งใหม่ 54 ราย ทุนจดทะเบียน 129.50 ล้านบาท : มกราคม-มิถุนายน 2565 จัดตั้งใหม่ 76 ราย ทุนจดทะเบียน 132.95 ล้านบาท จัดตั้งเพิ่มขึ้น 22 ราย ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3.45 ล้านบาท) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีต่อธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) มีธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 2,045 ราย คิดเป็น 0.24% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 23,239.85 ล้านบาท คิดเป็น 0.11% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (609 ราย) ชลบุรี (166 ราย) ภูเก็ต (166 ราย) เชียงใหม่ (164 ราย) สุราษฎร์ธานี (98 ราย) สมุทรปราการ (82 ราย) ฯลฯ

ภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 18,878.20 ล้านบาท (81.23%) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ทุน 3,963.18 ล้านบาท (17.05%) รัสเซีย ทุน 69.55 ล้านบาท ( 0.30%) ฝรั่งเศส ทุน 56.14 ล้านบาท (0.24%) และสัญชาติอื่น ๆ ทุน 272.78 ล้านบาท (1.17%)

ธุรกิจมีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 46,500 ล้านบาทต่อปี (รายได้รวม ปี 2562 จำนวน 55,398.50 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 44,101.63 ล้านบาท ลดลง 20% และปี 2564 จำนวน 39,991.03 ล้านบาท ลดลง 9%) ขณะที่ผลประกอบการมีกำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 3,230 ล้านบาทต่อปี (กำไรรวม ปี 2562 จำนวน 5,534.46 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 2,507.14 ล้านบาท ลดลง 55% และปี 2564 จำนวน 1,651.57 ล้านบาท ลดลง 34%)

ทั้งนี้ ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ มีรูปแบบการให้เช่าเพื่อดำเนินงาน (Operating Lease) แบ่งเป็นการเช่าระยะยาวรายปี และการเช่าระยะสั้นชั่วคราว (Rental) (เช่ารายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน) โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มกราคม-มิถุนายน 2564) มีปัจจัยมาจากบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการครอบครองรถยนต์ จากการซื้อเป็นการเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในสำนักงาน เป็นการลดภาระทางการเงินในการซื้อรถยนต์ รวมทั้งมีบริการซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันและค่านิยมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ใช้งานรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์พลังงานสันดาป ส่งผลให้ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ ปรับเปลี่ยนรถที่ให้เช่าเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

นอกจากการเช่ารถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในหน่วยงานแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ได้เปลี่ยนมาเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในงานรับส่งพัสดุ สิ่งของ หรือผู้โดยสาร เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษารถไฟฟ้า

ซึ่งสอดรับกับจำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ระยะเวลา 6 เดือน (กันยายน 2564-มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนกว่า 944 สถานี กระจายอยู่เมืองใหญ่ทั่วประเทศ รองรับรถพลังงานไฟฟ้า เป็นการชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวและปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

นอกจากจะมีการเปลี่ยนประเภทรถให้เช่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ธุรกิจยังมีการปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยเพิ่มจุดรับรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเช่ารถมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากรายได้ของธุรกิจให้เช่ายานยนต์ ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่ารถระหว่างการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ จึงปรับตัวด้านการจัดการต้นทุนในส่วนของการลงทุนซื้อรถยนต์ ด้วยการให้ประชาชนทั่วไปเป็นหุ้นส่วนนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้เช่าเป็นรายวัน ซึ่งบริษัทจะเก็บค่าคอมมิชชั่นจำนวนหนึ่ง และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของรถยนต์ให้สามารถเลือกวันที่เจ้าของรถยนต์ต้องการจะให้เช่า และเจ้าของสามารถติดตามรถยนต์ของตนเองบนแอปพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้น

รวมถึงมีประกันภัยรถยนต์ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับเจ้าของรถยนต์ที่มาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการประกอบธุรกิจ เป็นการหารายได้พิเศษ และใช้ประโยชน์จากรถยนต์อย่างคุ้มค่า