ศธ.โต้ปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ล้มเหลว หลังถูกวิจารณ์ผ่านมา 8 ปีมีแต่แย่ลง

นายสุภัทร จำปาทอง

กระทรวงศึกษาธิการ โต้ การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ล้มเหลว สอดคล้องกับการวางแผนงบประมาณ และแผนปฏิรูปประเทศ หลังนักวิชาการวิจารณ์ 8 ปีที่ผ่านมา มีแต่แย่ลง ระบบต่าง ๆ กำลังกัดกินเด็ก การศึกษาเน่าเฟะ 70% ทำสังคมสิ้นหวังกับระบบโรงเรียน 

วันที่ 15 กันยายน 2565 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้มีประเด็นวิจารณ์การปฏิรูปการศึกษาโดย ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่าการศึกษาไทยแย่ลง เด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนถูกปิดตัวมากขึ้น ไม่ยึดประโยชน์นักเรียนเป็นตัวตั้ง แต่กลับยึดประโยชน์ของครูแทนนั้น ขอชี้แจงให้ทราบว่าการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการอยู่ใน 3 ช่วงคือ 

ช่วงที่ 1 การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปส.) เพื่อทำหน้าที่ในการวางโครงร่างปฏิรูปการศึกษาของประเทศในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งมีผลงานคือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ 

ช่วงที่ 2 คือการกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาซึ่งต้องดำเนินการในช่วงปี 2562-2565 แต่เนื่องจากการกำหนดแผนปฏิรูปประเทศนั้นออกในช่วงต้นปี 2562 ทำให้ไม่สามารถจัดงบประมาณได้ทัน เพราะมีการวางแผนงบประมาณปี 2563 ไปแล้ว จึงต้องไปตั้งงบประมาณบางส่วนในปี 2564 

ช่วงที่ 3 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาชุดที่ 2 ขึ้นในปี 2563 และคณะกรรมการชุดนี้ได้ปรับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับที่ 2 เป็น 5 ประเด็นหลัก หรือเรียกว่า 5 BIG ROCKs และประกาศใช้ในปี 2564 ทำให้จัดทำงบประมาณไม่ทัน จึงต้องวางแผนงบประมาณเริ่มต้นในปี 2565

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของแผนปฏิรูปประเทศจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับการวางแผนงบประมาณด้วยข้อเสนอที่ควรดำเนินการ คือ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนงานปฏิรูปจะต้องปรับแผนงบประมาณโดยทันทีภายใน 90 วัน โดยให้เป็นความสำคัญอันดับแรกของหน่วยงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

เด็กเกิดน้อยลง

นายสุภัทรกล่าวต่อว่า อีกกรณีที่ถูกพูดถึงคือเรื่องเด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนถูกปิดตัวมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่จำนวน 29,100 โรงเรียน โดย 51% เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนักเรียนอยู่ประมาณ 40-80 คน 

โดยผลกระทบในเชิงคุณภาพ คือ ชั้นเรียนแต่ละห้องจะมีนักเรียนอยู่ประมาณ 4-11 คน ซึ่งจะเป็นปัญหาในการพัฒนาทางสมรรถนะทางร่างกาย และสมรรถนะพฤติกรรมทางสังคม รวมถึงวุฒิภาวะในการทำงานแบบรวมกลุ่ม เนื่องจากเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก ทำให้ในความเป็นจริงคุณครูที่ทำงานในโรงเรียนขนาดเล็กมีภาระงานค่อนข้างมากในการดูแลนักเรียนพร้อม ๆ กับความจำกัดทางด้านทรัพยากร 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ นับแต่หลังปี 2555-2564 มีเด็กที่เกิดใหม่ลดลงเรื่อย ๆ จาก 802,000 คนเหลือ 544,000 คน หากคิดเป็นสัดส่วนลดลงประมาณ 33% ทำให้โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 -3 และชั้นประถมศึกษา 1-6 จะมีจำนวนผู้เข้าเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเกิดโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และโรงเรียนบางแห่งอาจจะไม่มีผู้เรียน จึงจำเป็นที่จะต้องควบรวมในบางครั้งหรือยุติการเรียนการสอนในโรงเรียนบางแห่ง 

ดังนั้นการวางแผนของ ศธ.จึงใช้วิธีดำเนินการ “โรงเรียนคุณภาพชุมชน” เป็นเครือข่ายการพัฒนาสถานศึกษาหลายแห่งร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเป็นเครือข่ายหมุนเวียนทรัพยากรครูให้ครบสาขาวิชา และช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน รวมทั้งส่งต่อนักเรียนในเครือข่ายไปสู่การเรียนระดับสูงขึ้นได้อย่างเป็นระบบต่อไป

นักวิชาการมองระบบกัดกินเด็ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยกับมติชนว่า ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว ซึ่งถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของรัฐบาล นักการเมือง และนักปฏิรูป ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีความพยายาม มีคำมั่นสัญญา มีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ทำไมไม่สามารถจัดการ และปฏิรูปการศึกษาได้ มีแต่เสียเวลา เสียทรัพยากร และทำให้สังคมไทยเริ่มสิ้นหวังกับการศึกษาในระบบโรงเรียนมากขึ้น

ในส่วนของ ศธ.จะเห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมาการศึกษาไทยยิ่งแย่ลง เด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนถูกปิดตัวมากขึ้น แต่กลไกระบบราชการของ ศธ.กลับดีขึ้น มีข้าราชการระดับสูงเพิ่มขึ้น มีช่องทางในการไต่เต้าเพิ่มมากขึ้น ต้องเสียงบประมาณจ่ายเงินเดือน และวิทยฐานะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง สาเหตุที่ไม่สามารถจัดการ และผ่าตัดปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เกรงใจข้าราชการ ไม่ยึดประโยชน์นักเรียนเป็นตัวตั้ง แต่กลับยึดประโยชน์ของครูแทน

“ระบบต่าง ๆ กำลังกัดกินเด็ก แล้วเราจะปล่อยให้การศึกษากัดกินคุณภาพเด็ก กินงบฯที่เด็กควรจะได้รับต่อไปหรือ ผมมองว่า 8 ปีที่ผ่านมา ทำการศึกษาเน่าเฟะไปแล้ว 70% เหลืออีก 30% ยังมีส่วนที่ดีบ้าง เช่น มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวใหม่ มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น 

สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาปฏิรูปประเทศ แต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะนำเด็กเป็นที่ตั้งในการพัฒนาแก้ไขปัญหา และนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องไม่กลัวการต่อต้านของข้าราชการ ต้องกล้าสังคายนาระเบียบกฎเกณฑ์ และมองความต้องการของประชาชน และเด็กเป็นที่ตั้ง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว