ถอดรหัส “SLC” ญี่ปุ่น ปฏิรูปโรงเรียนสู่ชุมชนการเรียนรู้

เพราะแนวคิดโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community-SLC) ของ “ศ.ดร.มานาบุ ซาโต” ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกักคุชูอิน ประเทศญี่ปุ่น ที่นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับ SLC มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว จึงทำให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียนในระดับรากฐาน ทั้งยังมีการขยายแนวคิด แนวปฏิบัติทั่วประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งขยายไปในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย กระทั่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาที่มีพลังสร้างสรรค์

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum) และกลุ่มความร่วมมือด้านการศึกษาแห่งประเทศไทย (Thailand Education Partnership) จึงมีการจัดการประชุม SLC Symposiumเรื่องโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) เพื่อเป็นแนวทางให้ครูไทยปฏิรูปโรงเรียน พร้อมกับการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เชิญ “มาซาอากิ ซาโต” ผู้เชี่ยวชาญแนวคิดเรื่องโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ จากญี่ปุ่น มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม

ขณะเดียวกัน ยังมีการเปิดตัวหนังสือเรื่อง “เรียนรู้จากข้อเท็จจริงของเด็กและห้องเรียน : การปฏิรูปโรงเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ และการไตร่ตรอง” โดย “อ.มาซาอากิ ซาโต” และ “ดร.เอสุเกะ ไซโต” และหนังสือ “พัฒนาบทเรียนร่วมกันเพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้ : คู่มือการปฏิรูปโรงเรียนที่ยั่งยืน” โดย “ดร.เอสุเกะ ไซโต” และคณะ

ทั้งนั้นเพื่อส่งเสริมแนวคิดด้าน SLC สู่ห้องเรียนอย่างเป็นระบบ พร้อมกับสนับสนุนความรู้ความเข้าใจสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยให้ครูเข้าใจปรัชญาของการปฏิรูปโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโรงเรียน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เกิดขึ้นจริง

“มาซาอากิ ซาโต” กล่าวว่า จากประสบการณ์ของตัวเองที่เริ่มทำ SLC ในโรงเรียนที่ผมเป็นอาจารย์ใหญ่ ในจ.ชิสุโอกะ ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1998 โดยผมมองว่าสิ่งที่จะทำให้ SLC เกิดขึ้นจริง

การขับเคลื่อนต้องมาจากความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วนช่วยกัน และผลของการทำ SLC จะทำให้เสียงในห้องเรียนลดลง เหมือนกระซิบกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือบรรยากาศห้องเรียนที่ดี ห้องเรียนต้องเงียบ เพื่อให้มีสมาธิในการใช้ความคิด ตรงนี้จะเป็น active learning จริง ๆ

“หากมองย้อนกลับไป การศึกษาของญี่ปุ่นเดิมเป็นแบบการสื่อสารทางเดียว โดยครูมีหน้าที่สอน และจดบนกระดาน ขณะที่นักเรียนจะฟัง และจดตามเท่านั้น ซึ่งการตอบสนองกลับมานักเรียนมีอาการเบื่อ เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในวิชานั้น ๆ ฉะนั้น ครูต้องสังเกต และหาวิธีแก้ปัญหา โดยเพิ่มการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนให้มากขึ้น”

โดยโครงสร้างสำคัญของโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้จะต้องมี 3 เรื่องดังนี้

หนึ่ง ครู และครูใหญ่ และโรงเรียน จะต้องมอง SLC ร่วมกันเป็นวิสัยทัศน์ และปรัชญาในการปฏิรูปโรงเรียน โดยที่ครูต้องแน่ใจว่าการสอนในห้องเรียนต้องไม่ให้ความสำคัญกับนักเรียนคนหนึ่ง แต่ต้องให้ความสำคัญกับทุกคน โดยไม่โดดเดี่ยว และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สอง ครูต้องเรียนรู้ และปรับปรุงวิธีการสอน ผ่านกระบวนการ lesson study โดย 1 ปี ครูจะต้องมีการสอนแบบเปิด (open class) เพื่อให้เพื่อนครูมาเรียนรู้กระบวนการสอน ซึ่งทำให้เกิดการศึกษา และแบ่งปันความรู้ร่วมกัน จะทำให้ครูมีการพัฒนาตัวเอง และเพิ่มความเป็น professional ของแต่ละบุคคล

“lesson study จะมีทั้งการสอนสด และสอนผ่านวิดีโอ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือการออกแบบหลักสูตร และการวิจัย, การฝึกปฏิบัติ การร่วมสังเกตการณ์ และการสะท้อนมุมมองที่เข้าร่วมเรียนรู้ในกระบวนการ โดยบอกเล่าถึงความรู้สึก และการแบ่งปันเรื่องราว ที่สำคัญต้องแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ มองว่าครูที่เข้าร่วมเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกตำแหน่ง ตรงนี้จะเป็นวัฒนธรรมองค์กรในการสร้างการเรียนรู้”

สาม ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลให้กับผู้ปกครอง และคนชุมชน ว่าปัจจุบันโรงเรียนกำลังดำเนินการเรื่องอะไรอยู่ ซึ่งตอนที่โรงเรียนทำ open class นอกจากการเรียนรู้ของครูแล้ว ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ต้องเข้ามาเรียนรู้ และสังเกตการณ์ เพื่อให้ทราบถึงการทำงานด้วยเช่นกัน

“มาซาอากิ ซาโต” กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยความสำเร็จของ SLC ไม่ใช่แค่โรงเรียนเท่านั้น ขณะที่ผู้ปกครอง และคนในชุมชนเองจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนด้วย

“เพราะ SLC จะเกิดขึ้นจริง และขยายผลได้จริง Teacher Educator (TE) จะต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวคิด SLC เพื่อนำสู่การปฏิบัติและให้เกิดขึ้นจริง ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการโรงเรียน ทั้งครู และครูใหญ่ รวมถึงการค้นพบ หรือมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้น ๆ ทั้งยังต้องร่วมสังเกตการณ์ ทำตัวอย่างให้เห็น พร้อม ๆ ไปกับการสะท้อนถึงพัฒนาการการเติบโต ผ่านกระบวนการ lesson study”

“แม้ว่าการปฏิรูปการเรียน การสอนในโรงเรียนให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่ต้องเข้าใจว่าหัวใจสำคัญของ SLC คือจะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนได้อย่างไร โดยที่ครูต้องเริ่มปฏิรูปตัวเอง เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ออกแบบห้องเรียนที่ไม่ทิ้งเด็กในห้องเรียน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับครู เพราะจะทำให้สูญเสียตัวตน”

“แต่เมื่อครูเปลี่ยน กระบวนการเรียน การสอนเปลี่ยน ตัวนักเรียนเองจะเปลี่ยนตาม ตรงนี้จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และได้รับโอกาสการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน เพราะในห้องเรียน ครูจะใส่ใจการเรียนรู้ของเด็กทุกคน ท้ายที่สุดแล้วโรงเรียนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากประสบการณ์ของตัวเอง โรงเรียนจะเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี”

จึงทำให้เห็นว่าแนวคิด SLC เป็นทั้งวิสัยทัศน์ ปรัชญา และระบบกิจกรรม โดยจะเริ่มปฏิรูปจากภายใน และให้เด็ก ครู และผู้ปกครอง เรียนรู้ร่วมกัน จนทำให้เกิดการปฏิรูปห้องเรียน และโรงเรียน ทั้งยังทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้การปฏิรูปการศึกษาของไทยเกิดขึ้นจริงในอนาคตข้างหน้า