ม.ธรรมศาสตร์ ติด TOP 10 โลก มหา’ลัย ด้านความเท่าเทียมทางเพศ

ธรรมศาสตร์ ความเท่าเทียมทางเพศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติด TOP 10 โลก มหาวิทยาลัยแห่งความเท่าเทียมทางเพศ จากการจัดอันดับของ The Times Higher Education (THE) Impact Rankings 

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า The Times Higher Education (THE) Impact Rankings สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษาที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ 5 เรื่อง Gender Equality หรือความเสมอภาคทางเพศ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 7 จาก 1,081 สถาบันการศึกษาทั่วโลก และถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยในงาน Pride @Thammasat : Celebrate with Pride, Unite in Diversity แตกต่างอย่างเท่าเทียม : เป็นตัวเองอย่างมั่นใจบนพื้นที่ปลอดภัยที่เท่าเทียมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนตอนหนึ่งว่า ในโอกาสครบรอบ 89 ปี มธ.ได้ดำเนินวิสัยทัศน์ด้วยแนวคิด Trinity TU : Equity, Opportunity, Sustainability โอกาสสู่ความเสมอภาคที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.เกศินีกล่าวว่า มธ.ให้ความสำคัญกับ SDGs เป้าหมายที่ 5 เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่จะมุ่งไปสู่การลดความเสียเปรียบทางเพศในด้านการศึกษาและการจ้างงาน รวมถึงมีนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตของทุกเพศ ตลอดจนการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ

ตั้งแต่ปี 2562 ที่เข้ามากำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติงานของ มธ. โดยตระหนักถึงความละเอียดอ่อนในมิติความแตกต่างระหว่างเพศ ควบคู่ไปกับการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ

ด้าน ดร.พิษณุ ตู้จินดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านคุณภาพชีวิต มธ. กล่าวว่า แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะก้าวข้ามคำว่าชายและหญิงไปแล้ว อันมาจากความแตกต่างความหลากหลายที่มากขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเรื่องสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ มธ.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เช่น การจัดสรรโควตาการศึกษาให้ตั้งแต่ในระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา มีบริการการช่วยเลี้ยงดูบุตร สำหรับการทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น

รศ.ดร.พิษณุกล่าวต่อว่า ทุกนโยบายที่ มธ.ขับเคลื่อน มีการติดตามและรับฟังเสียงจากประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกัน เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ชุมชน องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) ฯลฯ เพื่อให้นโยบายที่ทำสามารถเกิดเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

“แน่นอนว่าในการขับเคลื่อนเราไม่ได้ต้องการหยุดแค่ที่ 7 ของโลก เราคาดหวังที่จะไปได้ไกลกว่านี้ แต่สุดท้ายที่เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเสียงของพวกเราทุกคนที่ช่วยสะท้อนกลับมาว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ช่วยกันคิด มีมิติใหม่ ๆ มากมาย ที่จะสามารถนำเสนอให้กับมหาวิทยาลัยและสังคมได้” 

รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. กล่าวว่า มธ.ไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงการสร้างความเสมอภาคทางเพศเท่านั้น แต่ยังมีการขับเคลื่อนในการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นเป้าหมาย SDGs ที่ 10 โดยการเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรอื่น ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเส้นแบ่ง เช่น การมีรถเมล์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทางขึ้นลงรองรับรถเข็นได้ทุกรูปแบบ มีเสียงประกาศเมื่อถึงจุดจอดระหว่างทางเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ทราบถึงข้อมูล

“ถามว่าธรรมศาสตร์ทำอะไรบ้าง เรามีการให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศที่เลือกเองได้ เรามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาของเรา เรามีคลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์ที่รองรับการให้คำปรึกษาให้กับทุกเพศ เริ่มให้ถูกจุด คลี่คลายปมต่าง ๆ ตั้งแต่แรก แล้วปัญหาเหล่านั้นมันจะคลี่คลายตามไป”

ม.ธรรมศาสตร์2

ด้านคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มธ.เป็นพื้นที่แห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะความคิด ความเชื่อ หรือตัวตน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความสวยงามที่เกิดภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัย และเพื่อจะให้ความหลากหลายต่าง ๆ อยู่ร่วมกันได้ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติคือสิ่งสำคัญอย่างมาก ทั้งทางโอกาส การปฏิบัติ และทางเพศ

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้เดินทางมาไกลมากในเรื่องของความเท่าเทียมอย่างการแต่งกายตามเพศสภาพได้ เรายกเลิกคำนำหน้านามได้ เราสามารถจัดกิจกรรมเหมือนในวันนี้ได้ ผมในฐานะนักศึกษาปัจจุบันขอขอบคุณที่ทุกคนร่วมกันผลักดันประเด็นเหล่านี้ร่วมกันมา และหวังว่าจะร่วมกันต่อยอดไปสู่ประเด็นเชิงสังคมมากขึ้น ให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมไทยอย่างแท้จริง” 

ส่วนเชอริศา อินทร์พิมพ์ นักขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอาจเริ่มที่ตนเอง ในความหมายที่ว่าต้องตั้งหลักให้ได้ว่าจะไม่ยอมจำนนกับการถูกละเมิดสิทธิไม่ว่าจะประเด็นใดก็ตาม และลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพราะถ้าเริ่มแรกถ้าไม่รู้สึกถึงผลกระทบ หรือไม่ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

“ในภาพอนาคตอาจต้องคำนึงถึงในเรื่องความเป็นธรรมไปด้วยในสังคม เพราะว่าทุกวันนี้เราก็เข้าใจเรื่องความเท่าเทียมกันมาแล้วพอสมควร แต่ในประเด็นของกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในสังคมอาจจะยังไปไม่ถึง” นักขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียมกล่าว 

ขณะที่ญาณกร พรมปัญญา ประธานชุมนุมสันทนาการ มธ. กล่าวว่า ถ้าเกิดหลายคนมองว่าเรื่องความหลากหลายเป็นเรื่องใหม่หรือเข้าใจยาก สิ่งแรกที่จะทำได้เพื่อสนับสนุนประเด็นนี้ก็คือการรับฟัง เพื่อเปิดใจว่าสิ่งที่เขากำลังทำ ภาพสังคมที่เขาฝันเป็นแบบไหน ไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ แต่ลองพยายามทำความเข้าใจ และถ้าสามารถช่วยตอบโจทย์อะไรได้ก็อยากให้สนับสนุน เพราะเพียงเท่านั้นก็เป็นการทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายเหล่านั้นแล้ว

“ขอฝากว่าต่อไปจะมีคนอีกหลายเจเนอเรชั่นมาก ๆ ที่จะเกิดมาอยู่บนโลกของเรา และความหลากหลายทางเพศจะมีมากไปกว่านี้มาก ก็เลยอยากให้พวกเราเริ่มด้วยการทำให้สังคมเป็น Save Space สำหรับทุกคน”