ธรรมศาสตร์ฉลอง 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

วโรกาสอันเป็นมงคลครบรอบ 100 ปีประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านในฐานะบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ปี 2565-2566 ซึ่งเป็นไปตามมติการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งประชาชาติ (UNESCO) ครั้งที่ 41

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการต่อประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะ “ด้านการศึกษา” ที่ทรงส่งเสริมให้ผู้คนทุกกลุ่มได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ทรงส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล และทรงเสริมสร้างสมรรถนะของครูผู้สอน

ตั้งแต่การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเด็กเปราะบาง-ชายขอบ ตลอดจนเด็กในพื้นที่ห่างไกล-ทุรกันดาร การส่งเสริมศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ไปจนถึงประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังทรงเป็น “อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ” ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นหนึ่งในนั้น

ความแตกฉานทางภาษา พระองค์ทรงเป็นนักวรรณกรรม นักแปล นักเขียน นักเรียบเรียงหนังสือ โดยเฉพาะ “ภาษาฝรั่งเศส” ที่พระองค์โปรดและมีความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ ทำให้ระหว่าง พ.ศ. 2513-2519 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษจนถึง พ.ศ. 2526

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

ด้วยทรงตระหนักว่า “ทุกคนควรเรียน…ภาษาอื่น ๆ ด้วย ทรรศนะจะได้กว้างขึ้น แบบมีหน้าต่างบานเดียวก็เห็นวิวเดียว หากมีหน้าต่างหลาย ๆ บาน ก็เห็นวิวมากขึ้น มีความคิดกว้างขึ้น” (2522)

ระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ที่ทรงมุ่งมั่น ทุ่มเท ทรงงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ก้าวหน้าในระดับสากล ตลอด 13 ปีเต็ม พระองค์ทรงริเริ่มให้สร้างหลักสูตรเพื่อเปิดสอนวิชาภาษาต่างประเทศใหม่ ๆ

ทรงบริหารพัฒนาอาจารย์ผู้สอนภาษาต่างประเทศ ทรงพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินผลให้ทันสมัย ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลนี้ ส่งผลให้คณะศิลปศาสตร์กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านภาษาต่างประเทศในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

นอกจากนี้ ในฐานะที่ทรงจบการศึกษาทางสายวิทยาศาสตร์ จึงทรงตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของวิชาการสายวิทยาศาสตร์ ว่าจะเป็นพื้นฐานของการคิดค้นทางด้านเทคโนโลยี อันจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และทรงสนับสนุนให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) เป็นองค์กรอิสระเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

ในส่วนของพระกรณียกิจด้านวัฒนธรรม ทรงมุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเพื่อความเข้ากันระหว่างวัฒนธรรม ทรงตระหนักว่า “ความมั่นคงและลุ่มลึกทางวัฒนธรรมทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและร้าย”

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่อุทิศพระองค์เพื่อส่วนรวม พระกรณียกิจของพระองค์ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาคมโลก ด้วยจริยวัตรอันงดงาม ประกอบกับคุณงามความดีของพระองค์ท่าน ในปี 2560 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และกองทุนการกุศล กว. จึงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำเอกสารเสนอพระนาม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ UNESCO ร่วมเฉลิมฉลองยกย่องพระเกียรติคุณในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีผลงานเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับภารกิจขององค์การยูเนสโก โดยได้นำเสนอบทบาทการทรงงานเพื่อสังคมและประเทศชาติใน 3 ด้าน

ประกอบด้วย 1.ด้านการศึกษา ได้แก่ การสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของบุคลากรครูผู้สอนภาษา 2.ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์ ได้แก่ บทบาทในการส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาฯ เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยากรบุคคลในการพัฒนาประเทศต่อไป 3.ด้านวัฒนธรรม ได้แก่ การส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทรรศนะระหว่างวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

การเสนอพระนามในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฝรั่งเศส สมาพันธรัฐสวิส สหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรโมร็อกโก และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ กระทั่งเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 UNESCO ได้เผยแพร่มติการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 อย่างเป็นทางการ ประกาศยกย่องให้พระองค์ท่านเป็น “บุคคลสำคัญของโลก”

วโรกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองและเทิดพระเกียรติทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือ นิทรรศการชื่อ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในความทรงจำ ซึ่งแสดงถึงพระประวัติและพระบุคลิกภาพ พระกรณียกิจด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข และพระเกียรติยศที่ทรงได้รับจากยูเนสโก

โดยจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-17พฤษภาคม 2566 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง อว. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยเป็นการนำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตีพิมพ์ทั้ง 2 ครั้ง มานำเสนอในรูปแบบของภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ 1.แสดงพระประวัติและพระบุคลิกภาพ 2.แสดงพระกรณียกิจด้านการสร้างและพัฒนาเยาวชนอัจฉริยะของประเทศไทย ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3.แสดงพระกรณียกิจด้านการสาธารณสุข 4.แสดงพระเกียรติยศที่ทรงรับจาก UNESCO 5.แสดงพระกรณียกิจด้านการส่งเสริมการศึกษา ในส่วนนี้สามารถใช้แว่นตาสามมิติ Virtual Reality หรือสแกน QR Code เพื่อนำผู้ชมนิทรรศการไปเยี่ยมชม “ห้องทรงงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลให้คงอยู่ในสภาพเดิมอย่างสมบูรณ์ 6.แสดงพระนิพนธ์และพระกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและดนตรีคลาสสิก

สำหรับนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ ณ กรุงปารีส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีของ UNESCO ด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อยและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน โดยมีนางออเดรย์ อาซูเล ผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO นางทามารา รัสโตวัค เซียมาชวีลีประธานคณะกรรมการบริหาร UNESCO ร่วมรับเสด็จ

ในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีกิจกรรมการเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำห้องนิทรรศการถาวร พร้อมทั้งปรับปรุงห้องทรงงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติไว้ที่ตึกคณะศิลปศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชั้น 5 เพื่อแสดงหลักฐานต่าง ๆ ที่ทรงใช้ในการสอน รวมทั้งห้องที่ทรงงานระหว่างสอนที่คณะศิลปศาสตร์เป็นเวลา 13 ปี

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุน กว. และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายวิชาการทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องพระประวัติ แนวพระดำริ และพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และตีพิมพ์เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติคุณ ประหนึ่งกตัญญุตานุสรณ์ที่จะน้อมกล้าวถวายด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณต่อคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนให้มีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Language Education and Thai Studies” ภายใต้แนวคิด “Diversities and Voices in Language Education and Thai Studies” ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM ชั้น 7 ในวันที่ 12-13 กันยายน 2566 และในวันที่ 22-16 กันยายน 2567 จะจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง “แก้วกัลยา : สายใยไทย-จีนสัมพันธ์” พร้อมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนมีงานออกร้านแสดงสินค้าจีนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM ชั้น 2

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ