CMMU แนะธุรกิจเพิ่ม 3 สกิลด้านความยั่งยืน “ไมนด์เซต สกิลเซต ทูลเซต”

CMMU

วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU แนะภาคธุรกิจต้องเพิ่ม ซูเปอร์สกิลด้านความยั่งยืน ชู “ไมนด์เซต สกิลเซต ทูลเซต” เครื่องยนต์ขับเคลื่อนความเชื่อมั่นองค์กร ชี้ส่วนบริหาร ต้องเร่งวางโครงสร้างองค์กรให้มีทักษะเดียวกัน

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ผศ.ดร.สุภรักษ์ สุริยันเกียรติแก้ว ผู้ช่วยคณบดีหน่วยธุรกิจและสังคมสัมพันธ์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เทรนด์การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก โดยผู้บริโภคมีความใส่ใจในประเด็นของสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ทำให้ประเด็นด้านความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญและจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นต่อทั้งองค์กร ผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรในทุก ๆ ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันทางด้านนักลงทุนทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับแนวทางทำธุรกิจแบบ ESG (Environment, Social, Governance) มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อประกอบการพิจารณาในการลงทุน

นอกจากนี้ จากการดำเนินงานในด้านบริหารและพัฒนากลยุทธ์การตลาดพบว่า การจัดการด้านความยั่งยืนนั้นต้องเพิ่มอีก 3 ทักษะสำคัญ คือ ไมนด์เซต (Mindset) สกิลเซต (Skillset) และทูลเซต (Toolset) เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือในการก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต

ผศ.ดร.สุภรักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้ CMMU จึงมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะผลักดันเรื่อง “ความยั่งยืน (Sustainability)” และ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)” ในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมุม E-Environment ที่องค์กรต้องใช้ทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการทำลายธรรมชาติ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยมลพิษ เป็นต้น

มุม S-Social องค์กรต้องมีความรู้ความเข้าใจสภาพสังคมและพิจารณาตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น จีดีพี (GDP) ว่าตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนอย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องด้วยการพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากในการพัฒนา และมุม G-Governance การดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงต้องมีความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาองค์กร โดยทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมาย

ทางด้าน รศ.ดร.แรนดัล แชนนอล หัวหน้าสาขา Marketing And Management วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นในการทำตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านระบบการศึกษา ในฐานะที่ CMMU เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน เราได้สอดแทรกและปลูกฝังความรู้เรื่องความยั่งยืนผ่านการศึกษาในวิทยาลัย ในด้านของการศึกษา ด้านการตลาด การทำการตลาดโดยคำนึงถึงหลักความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย โดยคำว่า “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการทำการตลาด เพื่อให้มีผู้บริโภคสนใจในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตตลอดทุกช่วงชีวิต

สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวควบคู่ไปกับกลยุทธ์ด้านการตลาดในปัจจุบันคือ การทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชื่อมั่นความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีผลลัพธ์และแนวทางที่สามารถยืนยันได้ว่าทำให้เป้าหมายได้รับผลกระทบในเชิงบวก พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนว่าเป็นเทรนด์ หรือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม ผู้บริโภค รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ในระดับบริหาร และวางโครงสร้างจะต้องวางบทบาทการทำงานของบุคคลในองค์กรให้แตกต่างจากเดิม โดยจะต้องมีความคิด รู้จักกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งทำให้คนในองค์กรเห็นทิศทางของความยั่งยืนในภาพเดียวกัน นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดทักษะดังกล่าวได้ในปริมาณมาก เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว สามารถส่งต่อไปถึงคนทำงานรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาทำงานในอนาคต รศ.ดร.แรนดัลกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ผศ.ดร.ตฤณ ธนานุศักดิ์ หัวหน้าสาขา Healthcare Wellness Management วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกเหนือจากการนำ ESG มาใช้ในองค์กร ไม่ใช่เพียงการนำมาใช้ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะการนำมาใช้ในองค์กรที่ดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและตระหนักในด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นการนำ ESG มาปรับใช้ในองค์กรไม่ว่าจะขนาดใดก็ตาม จะช่วยในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร เพราะหากองค์กรใดก็ตามมุ่งเน้นแต่ผลกำไรโดยไม่ใส่ใจสังคม อาจถูกมองข้ามจากผู้บริโภคและนักลงทุนได้ไม่ยาก

ดังนั้นสถานศึกษาเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถบ่มเพาะความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี วิทยาลัยจึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมีแผนในการนำประเด็นด้านความยั่งยืนเข้าไปสอดแทรกในทุกรายวิชาเรียนของ CMMU รวมถึงสอดแทรกผ่านกรณีศึกษาในชั้นเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจการบริหารและพัฒนาธุรกิจอย่างมีความยั่งยืน โดยสถานศึกษาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแนวคิด (Mindset) และทักษะของผู้เรียน ให้มีความพร้อมในการรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

CMMU มุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีไมนด์เซต (Mindset) หรือแบบแผนความคิดที่หล่อหลอมให้มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม เชื่อในการลงมือปฏิบัติจริง และไม่หยุดเรียนรู้ เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน และสามารถอยู่ได้ในระยะยาวโดยไม่กระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทางด้านสกิลเซต (Skillset) วิทยาลัยก็เดินหน้าอัพเดตความรู้ด้านการบริหาร และการจัดการที่สร้างสกิลจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่ศึกษาเพียงทฤษฎีในตำราเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนมีชุดทักษะที่พร้อมเผชิญความท้าทายบนโลกธุรกิจที่มีความผันผวนรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็ยังคงมองหาความยั่งยืน และสุดท้ายทูลเซต (Toolset) ด้านความยั่งยืนที่มีอุปกรณ์หลากหลายให้นักบริหารได้ทำความเข้าใจตั้งแต่อยู่ในคลาสเรียน พร้อมใช้งานจริงก่อนออกไปสู่โลกภายนอก