ศธ.แถลงงบฯอาหารกลางวัน 2.9 พันล้าน-จ้างภารโรง 1.4 หมื่นอัตรา

กระทรวง ศธ.

กระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการประชุมประสานภารกิจ ศธ. หลัง ครม.ได้เห็นชอบงบฯ อาหารกลางวัน 2.9 พันล้านบาท แก่เด็กขยายโอกาสกว่า 5 แสนคน พร้อมอนุมัติงบฯ จ้างนักการภารโรง ลดภาระครู  ตั้งบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแห่งที่ 20 

วันที่ 27 มีนาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณและโครงการตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอในหลายโครงการ ได้แก่ งบฯ ค่าอาหารกลางวัน งบฯ การจ้างภารโรง จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ฯลฯ ดังนี้

งบฯ ค่าอาหารกลางวัน

อนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา

ศธ.เสนอขออนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร

งบประมาณปี 2568 สำหรับนักเรียนกว่า 575,938 คน กว่า 2.9 พันล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณตามโครงสร้างอัตราตามขนาดโรงเรียน แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • จำนวนนักเรียน 1-40 คน 36 บาท/คน/วัน
  • จำนวนนักเรียน 41-100 คน 27 บาท/คน/วัน
  • จำนวนนักเรียน 101-120 คน 24 บาท/คน/วัน
  • จำนวนนักเรียน 121 คนขึ้นไป จำนวน 22 บาท/คน/วัน

จ้างภารโรง 14,210 อัตรา

อนุมัติงบประมาณสำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน

ในปี 2567 ศธ.ได้ของบประมาณเพิ่มเติมไปที่สภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ได้รับการอนุมัติ จึงได้ของบประมาณเพิ่มเติมไปที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อทำเรื่องของบกลางดังกล่าวแก่ ครม.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่เปิดภาคการศึกษาในเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567

โดยรวมเป็นงบประมาณกว่า 639,450,000 บาท เพื่อครอบคลุมโรงเรียนที่ขาดแคลนนักการภารโรงกว่า 14,210 อัตรา

ทั้งนี้ งบประมาณปี 2568 ในลักษณะผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี พ.ศ. 2568-2570 รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท โดย ศธ.ได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรง ซึ่งการจ้างนักการภารโรงดังกล่าว จะเป็นการลดภาระของครูผู้สอน ทำให้ครูจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ

จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบุรีรัมย์

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ โดยจะเป็นจังหวัดที่ 20
ซึ่งถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง โดยอยู่ในความดูแลของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โอกาสของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งผลให้สถานศึกษานำร่องจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ บริหารจัดการการศึกษาได้อย่างอิสระ ยืดหยุ่น คล่องตัว มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ สามารถปรับลดและยกเลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครู ด้วยกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

1 อำเภอ 1 ทุน

ขออนุมัติขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4

อนุมัติขยายกรอบเวลา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2569 โดยขอผูกพันงบประมาณข้ามปีสำหรับการดำเนินโครงการ กรอบวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 5.51 ล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะเป็นผู้ขอตั้งงบประมาณเป็นรายปีตามขั้นตอนวิธีการงบประมาณในภาพรวม เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินโครงการ และไม่กระทบต่อการศึกษาของผู้รับทุนตามสิทธิที่ได้รับ