“OKMD”ชูศูนย์เรียนรู้แนวใหม่ ทุ่มงบ600ล้านบาท-เล็งขอใช้พื้นที่กทม.

“TK Park” ชงตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งชาติ ชูคอนเซ็ปต์ห้องสมุดเติมกิจกรรมต่อยอดทำธุรกิจมูลค่า 600 ล้านบาท เล็งหารือกับ กทม.ขอใช้พื้นที่อาคารลุมพินีสถาน-สถานีรถไฟฟ้ามักกะสันและบางซื่อ หวังลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ 

ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ที่กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ TK Park เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ National Knowledge Center : NKC ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ผสมผสานกับการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้เป็นโครงการต้นแบบ เพราะมองเห็นความจำเป็นใน 4 ประเด็น คือ 1) ในพื้นที่ กทม.ยังขาดแหล่งเรียนรู้แบบห้องสมุดพร้อมผสมผสานกิจกรรม

2) ต้องการให้ผู้ที่เรียนจบแล้ว หรือที่ต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน และไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ที่คาดว่าจะมีอยู่ร้อยละ 20ได้มีพื้นที่ในการหาความรู้ หรือมีทักษะด้านอื่น ๆ เพื่อนำไปต่อยอดเพราะปัจจุบันเน้นไปที่เยาวชนที่ยังเรียนอยู่เป็นหลักหรือคิดเป็นร้อยละ 80

3) เป็นที่แนะแนวอาชีพในกรณีที่ตกงาน รวมถึงกลุ่มผู้เกษียณ และผู้สูงวัยที่ยังต้องการมีอาชีพใหม่ และ 4) ใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทัศนคติ และได้ค้นหาตัวตนที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา ซึ่งเร็ว ๆนี้จะเข้าไปหารือกับ กทม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อขอใช้พื้นที่ เช่น อาคารลุมพินีสถาน หรือพื้นที่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน และพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการใช้งานเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ อาคารลุมพินีสถานค่อนข้างมีความพร้อมเพราะสามารถปรับปรุงอาคารเดิม โดยเก็บสภาพภายนอกของอาคารเดิม ขยายพื้นที่ชั้นใต้ดิน และปรับพื้นที่ภายในอาคารเดิมเพื่อต่อเติมได้ ฯลฯ เท่ากับว่าจะมีพื้นที่เพิ่มเป็น 14,000 ตารางเมตร สำหรับใช้ประโยชน์ต่อไปได้

“ในโลกสมัยใหม่มีการพัฒนาห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่หนังสือเท่านั้น จะบวกเพิ่มพื้นที่ให้สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้ใช้บริการได้ทดลองทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งพื้นที่แบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้แล้ว และควรผนวกการสร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อรองรับอนาคตไว้ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้จะขยายตัวอย่างมาก”

ดร.อธิปัตย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการศูนย์การเรียนรู้ฯดังกล่าวเป้าหมายหลัก คือ ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และหากประสบความสำเร็จจะขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะนับจากวันที่ตั้งองค์กรมา 14 ปี สามารถพัฒนาห้องสมุดทั่วไปได้เพียง 25 แห่ง หรือเฉลี่ย 1-2 แห่งต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีการขยายพื้นที่น้อยมาก ซึ่งในปัจจุบันมีห้องสมุดที่ได้รับการสนับสนุนทั้งหนังสือ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรม เช่น ห้องสมุดที่จังหวัดยะลา ถือเป็นห้องสมุดแห่งแรกของสำนักอุทยานการเรียนรู้ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีประชาชนในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายเข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษามลายูให้กับชุมชนด้วย

สำหรับรูปแบบกิจกรรมที่มองว่าน่าจะได้รับความสนใจ เช่น การเรียนรู้ด้านดนตรี เนื่องจากพบว่ามีทักษะด้านนี้ แต่ไม่มีเครื่องดนตรี ฉะนั้น ศูนย์การเรียนรู้ฯนี้จะมีทั้งเครื่องดนตรี และครูสอนดนตรีให้ หรืออาจจะจัดเสวนาให้สำหรับผู้สูงอายุเช่น เทคนิคการเล่นหุ้นจะต้องทำอย่างไรไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็จะได้รับความรู้เพื่อนำกลับไปต่อยอดได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับการใช้ระบบดิจิทัลที่ทำให้คนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และแหล่งเงินทุนสำหรับเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเองนั้น ทำให้พบว่าเมื่อแบ่งระดับประชากรเป็นระดับบน และระดับล่าง โดยแม้ว่าประชากรระดับล่างจะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ประชากรระดับบนกลับเข้าถึงได้เร็วกว่า นั่นหมายถึงจะเกิดความ “เหลื่อมล้ำ”ขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการกล่าวถึงว่าเพราะอะไรประชากรระดับล่างถึงเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ช้า ทั้งที่ภาครัฐเองใส่งบประมาณในเรื่องของดิจิทัลค่อนข้างมากก็ตาม

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานการเรียนรู้ TK Park มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 6 ล้านคน มีการยืม-คืนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ประมาณ 4 แสนครั้ง/ปี และยังขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้เต็มรูปแบบ จำนวน 25 แห่งในพื้นที่ 19 จังหวัดเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ชุมชน Mini TK รวม 20 แห่ง ทั้งยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี เพื่อนำร่องเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 202 แห่ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ สนับสนุนทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กไปจนถึงประชาชนทั่วไปด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… ส่องมุมคิด “กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้นำ TK Park ชูเรียนรู้ที่จะเรียน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!