“สุจิปุลิ” ร.ร.แนวใหม่ เพิ่มสมรรถนะเด็กรับโลกอนาคต

เป็นเรื่องน่าทึ่งเมื่อได้ยินเรื่องของนักพัฒนาการศึกษาที่เดินออกจากพื้นที่ safe zones ของตัวเอง เพื่อมาเติมเต็มความฝันที่อยากเป็นครู และมีโรงเรียนตามแนวคิดของตัวเอง หลังจากสั่งสมประสบการณ์มากว่า 20 ปี ของ “ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์” เพื่อมาสร้างอาณาจักรของตัวเองคือโรงเรียนแนวคิดใหม่ที่ใช้ชื่อว่า โรงเรียนสุจิปุลิ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นโรงเรียนแนวใหม่แห่งแรกที่ชูคอนเซ็ปต์ “หัวใจนักปราชญ์” มาใช้กับการเรียนการสอน ด้วยการนำความเก่ากับแนวคิดใหม่มาผสมผสานอย่างลงตัว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.นาฎฤดี” ในวันที่ฝันของเธอเป็นรูปเป็นร่างอยู่ตรงหน้าว่าโรงเรียนนี้เกิดขึ้นจากความสุขที่เธอได้รับหลังจากเรียนจบด้านการเงินการธนาคาร และเข้าทำงานที่โรงเรียนสาธิตบางนา จากการช่วยสอนให้เด็กคนหนึ่งสามารถติดกระดุมเสื้อได้ด้วยตัวเอง ความดีใจของเด็กในวันนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากมีโรงเรียนที่เกิดจาก “แนวคิดของตัวเอง”

จนเมื่อเธอเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านนักพัฒนาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยิ่งช่วยทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนการเป็นนักพัฒนาการศึกษาของเธอมากขึ้นไปอีก และเมื่อรวมกับประสบการณ์จากการทำงานที่โรงเรียนสาธิตบางนา จึงทำให้เธอมั่นใจว่าการสร้างโรงเรียนสามารถเติมเต็มชีวิตของเธอได้

โรงเรียนแนวคิดใหม่ของ “ดร.นาฎฤดี” ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกรายล้อมไปด้วยโรงเรียนเก่าในพื้นที่อีกหลายโรงเรียน แต่เพราะความเชื่อมั่นในหลักสูตรตามแนวคิดใหม่จึงทำให้โรงเรียนถูกพูดถึงแบบปากต่อปากมากกว่าการเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ จนถึงตอนนี้ผลตอบรับดีมาก เพราะมีนักเรียนทั้งหมด 130 คนทั้งยังมีผู้ปกครองบางส่วนตัดสินใจสมัครล่วงหน้าอีกไม่น้อยเช่นกัน เธออธิบายให้เข้าถึงแก่นแท้

โรงเรียนแนวคิดใหม่ในแบบฉบับของตัวเองอีกว่าอ้างอิงจากการปฏิรูปการศึกษาที่จะเปลี่ยนผ่านมาเป็นการสร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน (competency based) ที่คาดว่าจะใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในอีก 8 ปีข้างหน้า

“เราคิดว่าของดีมีอยู่ ไม่อยากรอนานจึงนำแนวคิดนี้มาใช้กับโรงเรียนของตัวเอง โดยเฉพาะการสอนเด็กเล็กที่นี่ ไม่ได้เน้นการเขียน และอ่านเหมือนกับโรงเรียนทั่ว ๆ ไป แต่เราเน้นให้เด็กเล็กมีความพร้อมก่อนจะเข้าเรียนในระดับอนุบาล เพื่อให้เด็กมีความรักในการอ่าน รักที่จะเขียน และอยากเรียนรู้ ด้วยการให้นักเรียนเลือกหนังสือ 1 เล่มกลับบ้าน เพื่อให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง ทั้งนั้นเพื่อสร้างอุปนิสัยรักการอ่านให้เด็กไปในตัว”

“ดร.นาฎฤดี” บอกอีกว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนสุจิปุลิ ยังเน้นไปถึงการสร้างความเป็น “ผู้นำ” ให้กับเด็กนักเรียนอีกด้วย ผ่านหลักสูตรที่เรียกว่า 7 Habit ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง ที่มีการสำรวจคนที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลกจะมี 7 อุปนิสัย ที่ประกอบด้วย 1) Be Proactive

2) Begin With the end in Mind

3) Put First thing First

4) Think Win Win

5) Seek First to Understand Then to Be Understood

6) Synergize

และ 7) Sharpen The Saw ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมจากองค์กรธุรกิจใหญ่ ๆ อย่างมาก

“เราเกิดความคิดว่าทำไมต้องรอให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนจึงได้เรียน ที่สำคัญคือการจะเปลี่ยนผู้ใหญ่ค่อนข้างยาก แต่หากปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ น่าจะทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่า ที่สำคัญเราต้องเชื่อก่อนว่าเด็กทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ ตามความเก่งและความสามารถที่แตกต่างกันไป”

นอกจากนี้โรงเรียนสุจิปุลิ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องวิชาการ แต่แนวคิดนี้จะกระตุ้นให้เด็กได้ปล่อยศักยภาพที่แท้จริงออกมา

“ดร.นาฎฤดี” อธิบายต่อว่า ศักยภาพของนักเรียนรวมถึงอุปนิสัยที่ปลูกฝังไว้ตั้งแต่ต้นจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อนักเรียนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เช่น สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้หรือไม่ รู้จักยับยั้งชั่งใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากการวัดประสิทธิผลของหลักสูตรแนวคิดใหม่นี้ ไม่ได้วัดกันที่การสอบเข้าโรงเรียนมัธยมได้ แต่มองให้ไกลกว่านั้นคือนักเรียนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในอนาคต

การเรียนการสอนจะนำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ มาให้นักเรียนได้เรียนรู้ อย่างเช่น การสอนเรื่องการแทนค่า ที่ประกอบด้วยการชั่งตวง วัด ของนักเรียนระดับ ป.2 โจทย์ของคุณครูคือสอนอย่างไรที่จะทำให้เด็กต้องการเรียนรู้ และสนุกไปด้วย หรือที่เรียกว่า “การบูรณาการ” โดยเริ่มจากการตั้งโจทย์ให้คิด เช่น ระหว่างเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายใครใช้น้ำในการล้างมือมากกว่ากัน

“สิ่งที่เกิดในชั้นเรียนคือเด็กผู้หญิงบอกผู้ชายใช้น้ำเยอะกว่า ซึ่งคุณครูจะยังไม่เฉลยคำตอบ จึงต้องใช้ “การพิสูจน์” ด้วยการล้างมือ 7 ขั้นตอน ก็คือเราแฝงการเรียนวิชาสุขศึกษานั่นเอง รวมถึงผู้ชายล้างมือใส่ถัง ผู้หญิงล้างมือใส่กะละมัง ด้วยภาชนะที่แตกต่างกัน ก็ต้องให้เด็กคิดว่าทำอย่างไร แต่คำตอบไม่ได้อยู่ที่มากกว่า หรือน้อยกว่า แต่สิ่งที่ครูต้องการคือเด็กสามารถชั่งตวงเองได้หรือไม่ และเด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองหรือไม่ จากนั้นการคิดของเด็กจะถูกอัพให้เห็นว่า ใน 1 คนใช้น้ำล้างมือเท่านี้ แล้วใน 1 วัน เราล้างมือกี่รอบ แล้วหากทั้งเพื่อน,ครู และคนทั่วโลกใช้น้ำเพื่อการล้างมือ เราจะใช้น้ำไปมากน้อยแค่ไหน พูดง่าย ๆ คือเราตั้งโจทย์เพื่อให้เขาคิดต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราใช้น้ำไม่ประหยัด เป็นต้น”

“ดร.นาฎฤดี” เล่าให้ฟังต่อว่า “หมูกระทะ” ก็ใช้เป็นโจทย์ในชั้นเรียนได้ เช่น การล้างกระทะใช้อะไรได้บ้าง ซึ่งในห้องเรียนจะมีอุปกรณ์ให้เลือกว่าจะใช้อะไร ซึ่งบางคนก็เลือก เด็กบางคนก็ใช้ขนมที่เมื่อผสมกับน้ำแล้วก็สามารถล้างคราบของกระทะได้ หรือแม้แต่บางคนก็มีไอเดียว่ามีวิธีที่จะทำให้ไม่มีคราบติดกระทะได้หรือไม่

“เมื่อเราปล่อยให้เด็ก ๆ คิด เขาก็จะมีวิธีคิดที่หลากหลาย และในรูปแบบนี้เราแฝงเรื่องของการเตรียมวางแผน เพราะครูจะบอกล่วงหน้าว่าโปรเจ็กต์ต่อไปจะเป็นอะไร เมื่อเขารอ ก็ถือว่าได้สอนในเรื่องของการยับยั้งชั่งใจเอาไว้ด้วย”

นอกเหนือจากการวางหลักสูตร “ดร.นาฎฤดี” ยังเล่าถึงองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างคือ “ครู” ว่าเธอเป็นคนคัดเลือกด้วยตัวเอง และส่วนใหญ่จะเป็นครูจบใหม่ทั้งสิ้น ฉะนั้น สิ่งที่ครูหน้าใหม่ขาดคือการ “คุมชั้นเรียน” แต่เธอมองว่าสามารถฝึกฝนได้ แต่สิ่งที่ต้องมีอย่างเด่นชัด

ในด่านแรกก่อนคือต้องมี “growth mindset” ที่บวกด้วย 4 เรื่องสำคัญ คือ 1) ไม่บอกว่าครูต้องเตรียมอะไร เพื่อช่วยคัดกรองว่า “ครูคิดครบ” หรือไม่

2) แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อดูทัศนคติว่าพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลาหรือไม่

3) ต้องมีแรงบันดาลใจ

และ 4) ให้นำเสนอตัวเองภายในเวลา 5 นาที เพื่อดูความคิดสร้างสรรค์ โรงเรียนสุจิปุลิ กำหนดค่าเทอมไว้ที่ 30,000 บาท/เทอม ในขณะที่โรงเรียนที่มีความคล้ายคลึงกันเก็บอยู่ที่ 80,000 บาท

ซึ่ง “ดร.นาฎฤดี” บอกว่า ถือเป็นระดับที่เข้าถึงได้ และเธอยังเชื่อมั่นว่าหลักสูตรที่ดี จะถูกขยายออกไปแบบปากต่อปาก หรืออาจจะเรียกว่า loyalty brand หลักสูตรคือโปรดักต์ ที่ทำให้ทุกคนจับต้องได้ ที่สำคัญคือ การออกแบบหลักสูตรนี้ครอบคลุมถึงการให้เด็กได้ใช้ชีวิตในโลกอนาคต นั่นหมายถึงว่าวันนี้ของโรงเรียนสุจิปุลิวิ่งนำหน้าโรงเรียนอื่น ๆ มาไกลมากแล้ว