ถอดบทเรียน TELS 2019 ปลุกพลังผู้นำสร้างคุณภาพเด็กไทย

ต้องยอมรับว่าวันนี้ และในอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่างเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในโลกแห่งการทำงาน เพราะเกี่ยวข้องกับการเตรียมคนให้มีความพร้อมในทักษะด้านต่าง ๆ เพราะโลกทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

ผลเช่นนี้ จึงทำให้โครงการสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (Thailand’s Education Leader Symposium-TELS) ที่ดำเนินการโดย บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านนวัตกรรมทางการศึกษา และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ครบวงจร และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษา และครูทั่วประเทศมีโอกาสร่วมแชร์ประสบการณ์ ถอดบทเรียนแห่งความสําเร็จในการพัฒนาการศึกษาจากผู้นำด้านการศึกษาระดับโลก เพื่อนำไปสู่การเตรียมคนให้กลายเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ สอดคล้องกับความต้องการของโลกในยุคศตวรรษที่ 21

โดยล่าสุดมีการจัดสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด The Resolve for Enhancing Thailand’s Education 4.0 หรือ 4Res ที่ประกอบด้วย 1) reforming school แนวทางในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรภายในโรงเรียนเพื่อผลสัมฤทธิ์ที่ดีของนักเรียน 2) redefining skill for the future วางตัวเป็นผู้ให้คำปรึกษากับนักเรียนอย่างไรเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง 3) rethinking the concept of knowledge สร้างแนวคิดใหม่กับวิชาแห่งโลกอนาคต “วิทยาการคำนวณ” และ 4) reshaping ก้าวสู่การเป็นผู้นำการศึกษาในระดับเวิลด์คลาส

ทั้งนั้นเพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ตลอดจนผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ฟังวิสัยทัศน์ และประสบการณ์จากตัวจริงเรื่องการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก สู่การยกระดับและพัฒนาการศึกษาไทย ทั้งยังเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และสังคม ให้เทียบเท่าระดับสากล

ตะวัน เทวอักษร

“ตะวัน เทวอักษร” กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนไปของเทคโนโลยีในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า เครื่องจักรและเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกับคนได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ช่วยอ่านความฝัน ความคิดของคน ที่จะมาช่วยให้เห็นภาพโดยไม่ต้องลืมตา หรือขาเทียมที่ทำงานตามสมองสั่งการได้ทันที และสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งเด็กต้องใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้

“ฉะนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในวันนี้ ต้องสอนให้เขาเหล่านั้นมีความรักในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต เพราะโลกอนาคตเด็กจะต้องเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจะคอยทำหน้าที่ให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ไม่มีการมาสอนหน้าชั้นเรียน โดยที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอด แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็กและจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ”

“อีกทั้งเด็กต้องเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันเป็นทีม มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ที่สำคัญ เนื้อหาต้องกระชับ มีการจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทำและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกสนาน โดยใช้เทคโนโลยีและสื่อใหม่ ๆ เข้ามาช่วยปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความพร้อมที่จะเผชิญโลกแห่งอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

แพท ยงค์ประดิษฐ์

“แพท ยงค์ประดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่วิชาการ Code.org สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าการพัฒนาผู้นำด้านการศึกษาไทย สิ่งหนึ่งที่มองว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการลดวิชาเรียนลง ซึ่งเท่าที่ทราบการศึกษาไทยมีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก โดยครู ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องลดรายวิชาลง จากเรียน 6-7 วิชา เหลือเพียง 2-3 วิชาต่อวัน และควรจะมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้แก่เด็ก

“ถ้าไม่สามารถลดรายวิชาได้ ครูต้องร่วมมือกันสร้างกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในหลาย ๆ วิชาด้วยการบูรณาการวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น วิชาศิลปะเรียนร่วมกับคอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดเป็นแอนิเมชั่น ขณะที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องช่วยครูทำงาน โดยใช้เทคโนโลยี และอำนวยความสะดวกในการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลักสูตร computing science ที่ทุกโรงเรียนควรให้ความสำคัญ และนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน เพราะตอนนี้เทคโนโลยีช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ และการสื่อสารกันได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่ครู และนักเรียนเพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล”

นิรมล วิบูลมงคล

“นิรมล วิบูลมงคล” ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 วัดพระงาม-สามัคคีพิทยา เทศบาลนครปฐม จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สามารถปรับเปลี่ยนจากห้องเรียนธรรมดาสู่ห้องเรียนที่ปลดล็อกศักยภาพทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ตามแนว active learning กล่าวเสริมว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ active learning ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้กำกับ ผู้จัดทำแผนการศึกษา และออกแบบวิธีการสอนที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ

“หลังจากนำรูปแบบการเรียนรู้ดังกล่าวมาใช้พบว่า นอกจากคะแนนเด็กจะดีขึ้นแล้ว เด็กยังรู้จักการยอมรับผู้อื่น รู้จักบทบาทของตนเอง ได้รู้จักศักยภาพหน้าที่ของตนเอง ขณะเดียวกัน ครูผู้สอนยังยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการจัดบรรยากาศในห้องเรียนเชิงบวกมากขึ้น”

“ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียนในปัจจุบันจึงต้องเปิดรับ และมองหาวิธีการเรียนการสอนใหม่ ๆ ที่สำคัญ ต้องถามความคิดเห็นของครู หรือผู้ปฏิบัติงานจริงว่าต้องการ หรือคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะนำเข้ามาใช้ เพราะการทำงานเพื่อพัฒนาเด็ก พัฒนาโรงเรียน พัฒนาหลักสูตร ไม่สามารถทำคนเดียวได้ จำเป็นต้องร่วมมือกับครูทุกคนในโรงเรียน เพื่อช่วยจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และให้เด็กพร้อมที่จะรับมือกับทิศทางของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”

อันเป็นสิ่งที่ครู และผู้บริหารสถานศึกษา จำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างคุณภาพเด็กไทยให้สอดรับกับความต้องการของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 ต่อไป