แบงก์ชาติ กับโจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืน

แรงงาน
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.จิตเกษม พรประพันธ์,กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล,สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ 
        ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประเทศ “กำลังเจอโจทย์ยาก” จากกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลก ที่มาซ้ำเติมปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ท่ามกลางเศรษฐกิจการเงินโลกที่ผันผวน ความสามารถในการหารายได้ที่ลดลง ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น และภาวะโลกรวน ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

การปรับตัวท่ามกลางปัญหายังทำได้จำกัด จากการฉุดรั้งของภาระหนี้ของคนไทยที่มีมากขึ้นและนานขึ้น เกษตรกรซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศถึง 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานมีความเข้มแข็งทางการเงินลดลง ตลอดจน SMEs และแรงงานไทยที่ยังต้องปรับตัวอีกมาก แม้เศรษฐกิจจะเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในบางกิจกรรมแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติจึงมุ่งตอบโจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืน ด้วยการศึกษาเข้าใจปัญหา เชื่อมโยง ประสานงาน เสนอแนะนโยบาย เพื่อช่วยสร้างโอกาสการเติบโต และความเข้มแข็งในอนาคตของคนไทยผ่านการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย จัดการหนี้ นำไปสู่การตอบโจทย์ ว่าจะทำอย่างไรให้แรงงาน เกษตรกร SMEs และประชาชนเพิ่มรายได้สุทธิ เพียงพอที่จะผ่านพ้นปัญหาและฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง

การทำงานอยู่บนหลักการ “คิดรอบ ตอบได้” ให้น้ำหนักกับการทำงานติดดิน ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนและเกษตรกร อาทิ การลงพื้นที่ร่วมกับสภาพัฒน์ ทำมาตรการแบบมุ่งเป้าผ่านโครงการ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) การส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ตามบริบทของพื้นที่ร่วมกับ World Bank กรมพัฒนาชุมชน และ ธ.ก.ส.

และการจัดทำ Social Lab ส่งเสริมการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินผ่านระบบดิจิทัล และมีต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สอดคล้องกับความสามารถในการเพาะปลูกและพฤติกรรมในการปรับตัว ซึ่งสถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงของเกษตรกรโดยใช้ Credit Scoring Model ภายใต้การทำงานร่วมกับ ธ.ก.ส. กรมการข้าว บจก. สฤก และ บจก. คิว บ็อคซ์ พอยท์

องค์ความรู้ที่เข้าถึง เข้าใจ วิถีชนบทไทย เรียนรู้วิธีคิดและเงื่อนไขชีวิตคน จากการลงพื้นที่ได้ถูกนำมาทำนโยบายที่ตรงโจทย์และสื่อสารกับประชาชนได้ดีขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างการเติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ผ่านการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงิน ด้วยทักษะความรู้ทางการเงิน เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินที่ทั่วถึง (Financial Inclusion) และยกระดับการกำกับ ดูแล

และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (Market Conduct) โดยการดำเนินมาตรการทางการเงินภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คือการแก้หนี้เดิมด้วยการพักการชำระหนี้ เติมเงินใหม่ด้วยการออกสินเชื่อซอฟต์โลน และสินเชื่อฟื้นฟู ตลอดจนช่วยเพิ่มเติมผ่านคลินิกแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้

ตัวอย่างหนึ่งคือ การรับฟังความเห็นและหาแนวทางช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงล็อกดาวน์ใน 5 กลุ่มกิจการคือ ร้านอาหาร โรงแรม แท็กซี่และรถรับจ้าง บริการ และก่อสร้าง ที่มีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ riders และร้านอาหารกว่า 1,400 ราย ในวงเงิน 80 ล้านบาท ผ่านการจับคู่ระหว่าง แพลตฟอร์ม ไลน์แมน วงใน กับธนาคารออมสิน ตลอดจนชวน บมจ. Kerry Express พบกลุ่มผู้ขับขี่รถรับจ้าง เพื่อร่วมงานขนส่งสินค้าในช่วงที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่

นอกจากจะดำเนินมาตรการการเงินตามบทบาทหน้าที่ แบงก์ชาติได้ร่วมผลักดันนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ที่ยั่งยืน ต้องอาศัยความเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไข จึงต้องดำเนินการเชิงพื้นที่ร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไข

อาทิ การประเมินสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของโรงสี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุปทานโรงสีส่วนเกินที่สะสมในช่วงหลายปีหลัง และการร่วมยกระดับฐานข้อมูลการผลิตภาคเกษตรของประเทศ กับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และ GISTDA เพื่อใช้ในการวางแผนและจัดการที่แม่นยำ

ด้านการยกระดับผลิตภาพแรงงานและ SMEs ต้องทำงานร่วมกับผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การออกแบบมาตรการรักษาการจ้างงานรายย่อย และมาตรการ Co-payment ร่วมกับกระทรวงแรงงาน มาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs ผ่านการจัดทำเกณฑ์ Credit term ร่วมกับสภาพัฒน์ ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า บังคับใช้ให้อยู่ระหว่าง 30-45 วัน จากเดิมที่บางกรณีมีการดึงเครดิตยาวถึง 6-8 เดือน และการต่อยอดความรู้โครงสร้างตลาดแรงงานผ่านการจัดทำ White Paper “แนวทางการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ร่วมกับสำนักงาน EEC

มองไปข้างหน้า แบงก์ชาติจะยังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา และช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในมิติการเปิดโอกาสให้ทั่วถึงมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนภาคครัวเรือน ธุรกิจ ให้อยู่รอดและปรับตัว ผ่านการยกระดับทักษะความรู้ทางการเงิน ที่ตรงกับโจทย์ความต้องการ และสอดรับกับเทคโนโลยีและภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ด้วยการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้ระบบการเงินเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย”